ภาพถ่าย ดร. ทักษิณ ชินวัตร ช่วงต้อนรับการมาเยือนของผู้นำต่างประเทศ ปี 2546
การเรียนของ ดร.ทักษิณ เมื่อครั้งเรียนที่โรงเรียนมงฟอร์ดวิทยาลัย สมัยนั้นอยู่ในระดับดีมาก และเป็นคนที่เก่งทางด้านคณิตศาสตร์ คะแนนที่ได้ไม่เคยต่ำกว่า 90% สักครั้ง โดยผลการเรียนในยุคนั้นคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ หากสอบได้คะแนน 90-100% ถือว่าอยู่ในระดับดีเลิศ คะแนน 80-90% อยู่ในระดับดีมาก หากได้ไม่ถึง 50% ถือว่าสอบตก ดร.ทักษิณ เรียนมงฟอร์ตฯ ตั้งแต่ชั้น ป.3 โดยย้ายจากโรงเรียนสันกำแพง ซึ่งจริงๆ แล้วเขาจะมาเรียนชั้น ป.4 แต่อธิการของมงฟอร์ดฯไม่ยินยอม เพราะเขาไม่เคยผ่านการเรียนภาษาอังกฤษมาก่อน ทางมงฟอร์ดฯมองว่าหากเรียนชั้น ป.4 อาจจะเรียนไม่ทันเพื่อนในชั้นเรียน คุณพ่อของเขาได้ขอร้องให้เข้าเรียนไปก่อน หากเรียนไม่ทัน ทางมงฟอร์ดฯสามารถพิจารณาให้ออกได้ตลอดเวลา
ในที่สุดเขาได้เข้าเรียนที่มงฟอร์ดฯสมใจ โดยเรียนชั้น ป.3 และข้ามชั้นไปอยู่ ป.4 ตอนปลายปี เขาเรียนเก่งขึ้น และคะแนนภาษาอังกฤษดีขึ้นตามลำดับ ทั้งที่เข้ามาเรียนทีหลัง ส่วนสำคัญที่ทำให้เขามีวันนั้นได้เพราะพ่อเลิศ ชินวัตร
คุณพ่อเลิศ ชินวัตร เป็นคนมองปัญหาล่วงหน้า กล้าคิด กล้าเสี่ยง กล้าลองของใหม่ เป็นคนนำสมัย และมีจินตนาการสูง จึงประกอบกิจการหลายประเภทและมักจะนำเครื่องมือหรืออุปกรณ์แปลกใหม่มาใช้เป็นคนแรกๆ ในสันกำแพง
ในวัยเด็ก ดร.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งได้ติดตามพ่อแทบจะเป็นเงาตามตัว จึงได้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ผ่านการลงมือทำงานช่วยเหลือพ่อเลิศและครอบครัว ทั้งงานหนักงานเบา ตั้งแต่ โม่กาแฟ ขายหวานเย็น ขับรถแทรกเตอร์ ตัดส้มและกล้วยไม้ไปขายในตลาด เช็กยอดตั๋วหนัง ขับรถเมล์ ไปจนกระทั่งซ่อมเครื่องยนต์ งานทั้งหมดปลูกฝังให้มีความรับผิดชอบ ความเชื่อมั่น การมองปัญหาให้ทะลุ ไม่มองแค่ปัญหาเฉพาะหน้า และที่สำคัญคือความเป็นนักสู้
การเติบโตมาในชีวิตที่เรียบง่าย ประหยัด อดออม มุมานะในกิจการงานของครอบครัวในเวลาเดียวกัน เป็นสิ่งที่ปลูกฝังให้ความคิด ทัศนคติและจิตใจที่ดีให้กับ ดร.ทักษิณ เขาเติบโตมาพร้อมกับชีวิตธรรมดาที่แสนมีความสุข อยู่ในบ้านแบบห้องแถวทำด้วยไม้ 2 คูหา ในอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ชั้นล่างของบ้าน คุณพ่อและคุณแม่เปิดเป็นร้านกาแฟเล็กๆ เป็นกิจการของครอบครัว ก่อนที่จะขยับขยายไปยังกิจการอื่น ซึ่งร้านกาแฟแห่งนี้คือสถานที่ปลูกฝังการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ให้กับเขา และในเวลาเดียวกันยังทำให้เขาได้พบปะกับลูกค้าหลากหลายอาชีพ หลากหลายแบบ เป็นที่ๆฝึกฝนให้เขาใช้ทักษะในการเจรจา ทำการค้า จนกลายมาเป็นนักธุรกิจได้
มาสเตอร์ประเสิรฐ มั่นศิลป์ แห่งมงฟอร์ดฯ เล่าว่า คุณพ่อเลิศ ทำธุรกิจหลายอย่าง จนกระทั่งมาทำโรงหนังชื่อโรงหนังศรีวิศาล ตอนนั้น ดร.ทักษิณ เรียนที่มงฟอร์ตฯ ประมาณ มศ.2-3 แม้ครอบครัวจะไม่ได้ลำบาก แต่เขาต้องช่วยครอบครัวทำงานไปด้วย เขาช่วยทุกอย่างที่ทำได้โดยไม่เกี่ยงงาน ไม่คิดว่าตัวเองเด็กเกินไปที่จะทำ และไม่ได้รู้สึกว่าด้อยไปกว่าเด็กคนอื่นที่ไม่ต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน ตรงกันข้ามเขากลับรู้สึกสนุกทุกครั้งที่ได้ทำ เพราะการทำงานคือการเรียนรู้ มันช่วยสร้างตัวตนให้เขามีลักษณะของความเป็นผู้ประกอบการมาตั้งแต่ตอนนั้น
เพราะ ดร.ทักษิณ เป็นลูกชายคนโต และในสมัยนั้นพ่อแม่กำลังสร้างฐานะ ไม่ได้มีทรัพย์สมบัติให้ นอกจากการทำตนให้เป็นแบบอย่างให้เขานำไปปฏิบัติ เพื่อให้เติบโตมาเป็นคนที่มีคุณภาพ ในช่วงเขาเรียนระดับ มศ.3 คุณครูที่สอนเขาได้สังเกตนิสัยใจคอของลูกศิษย์คนนี้พบว่า เขาเป็นคนเอื้ออาทรกับเพื่อนฝูง เข้ากับเพื่อนได้ดี ชอบช่วยเหลือคนรอบข้าง ทำอะไรจริงจัง มักจะแสดงให้เห็นถึงความเป็นคนมีความคิดอ่านอยู่เสมอ โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิชาสังคม เขามีเอกลักษณ์ประจำตัว คือ เข้าได้กับทุกคน เป็นกันเองกับเพื่อนฝูง ชอบเล่นกีฬา ไม่เกเร
“ผมเคยถามมาสเตอร์ว่า มีโรงเรียนเตรียมนายกรัฐมนตรีหรือเปล่าครับ” ตอนนั้นมาสเตอร์ประเสริฐคิดว่า นายคนนี้ต้องบ้าแน่ๆ เพราะไม่มีโรงเรียนประเภทนี้ แต่ก็มองได้ว่าเขามีแววความตั้งใจที่แสดงออกมาในตอนนั้น แม้เวลาจะผ่านมานานหลายสิบปี แต่มาสเตอร์ยังมองเห็นภาพของเขาในตอนนั้นอย่างชัดเจน พร้อมยืนยันว่า ดร.ทักษิณ ชอบแสดงออก กล้าคิด กล้าทำและเป็นผู้นำตั้งแต่วัยเด็ก เป็นคนเฉียบขาด มีประสบการณ์จากการที่เคยทุกข์ยากมาก่อน และที่สำคัญคือเป็นคนเอาจริงเอาจัง แม้บางครั้งจะเป็นการพูดแบบทีเล่นทีจริง แต่เอาจริงทุกครั้ง
การเป็นคนเอาจริงเอาจังของเขา สลับกับนิสัยทีเล่นทีจริง ไม่มีใครรู้ว่าคำถามนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่การเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทย และยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึงสองสมัย ความสำเร็จของเขาเริ่มจากตัวเขาเองที่มีเป้าหมายมุ่งหวังที่จะเข้ามาบริหารประเทศ แต่เขาจะประสบความสำเร็จคนเดียวไม่ได้หากไม่มีผู้ที่มีศักยภาพและผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ มาร่วมช่วยกันคิดค้นนโยบายและหาหนทางแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน จนสร้างประวัติศาสตร์ทางการเมืองเอาไว้ให้กับคนรุ่นหลังได้ศึกษาจนถึงปัจจุบัน