หมดยุค “คนไข้อนาถา” - Thaksin Official


      “ก่อนหน้านี้เมื่อคนจนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจนหายและพอกลับบ้านได้ ก่อนที่จะออกจากโรงพยาบาลต้องไปพบนักสังคมสงเคราะห์ หรือขอให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยกเว้นค่ารักษาพยาบาลเป็นครั้ง ๆ ไป ซึ่งเวลาลงบัญชี เจ้าหน้าที่จะเขียนตัวย่อว่า อน. ที่มาจากคำว่า “คนไข้อนาถา” ก็เป็นอันเข้าใจกัน” คุณหมอสงวน หรือนพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ แพทย์หนุ่มมันสมองสำคัญของกระทรวงสาธารณสุขผู้ที่มีความฝันอยู่สองเรื่องที่อยากทำให้สำเร็จ หนึ่งคือกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ และสองคือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พูดถึงความยากลำบากของคนไข้ทั่วประเทศ

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือคุณหมอสงวนพยายามเอาแนวคิดไปเสนอหลาย ๆ พรรคการเมืองมาแล้วแต่ไม่มีใครสนใจจึงไม่เคยมีใครสนับสนุนให้เกิดขึ้นได้จริงเลยโดยเฉพาะเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่คนมักจะบอกว่า “เป็นเรื่องเพ้อเจ้อ”

เมื่อคุณหมอสงวนมาพบกับดร.ทักษิณ โดยการชักชวนอย่างไม่เป็นทางการของคุณหมอเลี๊ยบ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมที่เดินทางไปทั่วประเทศกับดร.ทักษิณในช่วงเวลาหาข้อมูลเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเลือกตั้งครั้งแรกของพรรคไทยรักไทย ซึ่งพวกเขามีโอกาสได้พบเห็นประชาชนต่อคิวกันยาวเหยียดเพื่อรอรับการรักษาพยาบาล มีโอกาสได้พูดคุยกับชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่หมดเนื้อหมดตัวไปกับค่ารักษาพยาบาล เมื่อมาเจอคุณหมอสงวน “เรื่องเพ้อเจ้อ” ที่คนอื่นไม่สนใจจึงกลายเป็นนโยบายที่จับต้องได้ของพรรคการเมืองใหม่เอี่ยมในขณะนั้น

วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2542 ที่ห้องประชุมชั้นล่าง ของอาคารหลังเล็กๆ สองชั้นบนถนนราชวิถี ซึ่งเป็นที่ทำการของพรรคไทยรักไทย ในวันนั้นเป็นการพบปะกันครั้งแรกระหว่าง ดร.ทักษิณ หัวหน้าพรรคไทยรักไทย กับ คุณหมอสงวน แพทย์หนุ่มที่เดินสายขายความคิดเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับพรรคการเมืองต่าง ๆ อย่างไม่ย่อท้อ

วันนั้นคุณหมอสงวนใช้เวลาราว 40 นาที นำเสนอหลักการและแนวทางเบื้องต้นของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ต่อ ดร.ทักษิณและทีมงานพรรคไทยรักไทย หลังฟังจบ ดร.ทักษิณ ซื้อความคิดนี้ทันทีโดยให้ความเห็นว่า “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นประโยชน์ต่อประชาชน มีความเป็นไปได้ในการบริหารงบประมาณ”  และบอกกับหมอหนุ่มว่า “เดี๋ยวจะขอทำให้เป็นนโยบายหลักของพรรคไทยรักไทยไปเลย” 

ก่อนลาจากกันในวันนั้นดร.ทักษิณเอ่ยกับคุณหมอสงวนแบบทีเล่นทีจริงว่า “คุณหมอ ชื่อนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเนี่ยฟังเข้าใจยาก ชาวบ้านงงแน่ ไม่รู้ว่าเรากำลังพูดเรื่องอะไร น่าจะหาชื่อที่เข้าใจง่ายกว่านี้ เช่น 15 บาทรักษาทุกโรคอะไรทำนองนี้” คุณหมอเลี๊ยบเล่าว่า เมื่อเข้าสู่ช่วงเวลารณรงค์เลือกตั้ง 6 มกราคม พ.ศ.2544 ในทุกเวทีหาเสียง หัวหน้าพรรคไทยรักไทยใช้เวลาในการปราศรัยถึงนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคอย่างเอาจริงเอาจัง แม้ในขณะนั้นจะมีผู้สมัคร ส.ส.จำนวนไม่น้อยไม่ยอมเอ่ยถึงนโยบายนี้ ถึงขนาดที่บางคนลบป้ายหาเสียงที่ย้ำนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคทิ้งเพราะคิดว่าเป็นไปไม่ได้

ไม่มีใครยืนยันได้ชัดเจนว่า นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคนั้นเป็นปัจจัยสำคัญแค่ไหนที่ทำให้พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเป็นปาฏิหาริย์ทางการเมืองด้วยจำนวน ส.ส.248 ที่นั่งจากทั้งหมด 500 ที่นั่ง สิ่งที่ผมรู้แน่นอนก็คือเย็นวันที่ 6 มกราคมนั้นเอง หลังทราบผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ดร.ทักษิณ ยิ้มกว้างอย่างมีความสุขและบอกผมทันทีเมื่อพบกันว่า “หมอ…เรามาลุย 30 บาทกัน”

นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี, คุณหมอเลี๊ยบ รำลึกถึงจุดเริ่มต้น 30 บาท

“ประชาชนที่ยากจนควรได้รับการบริการจากภาครัฐอย่างเท่าเทียม เพราะเมื่อมีการเลือกตั้งครั้งใด ก็มีคำพูดว่า คนไทยได้ลงคะแนน 1 เสียงเท่ากัน แต่ทำไมบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานไม่เท่าเทียมกัน ดังนั้นจึงอยากให้บริการแก่ประชาชนอย่างเท่าเทียม และเรื่องนี้เป็นการปฏิวัติระบบสาธารณสุขแห่งชาติครั้งยิ่งใหญ่และเป็นประวัติศาสตร์ หากทำได้ดีหรือไม่ดี เราทั้งหมดจะอยู่ในประวัติศาสตร์” 

ดร.ทักษิณ ชินวัตร,กล่าวหลังขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ.2544 

รัฐบาลทักษิณใช้เวลาเพียง 8 เดือนในการแปลงนโยบายให้มีผลในทางปฏิบัติ โดยมีทุกองคาพยพของกระทรวงสาธารณสุขมาร่วมกันทุ่มเทในเรื่องนี้ ในที่สุดโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคก็เริ่มนำร่องใน 6 จังหวัด คือ สมุทรสาคร ปทุมธานี ยโสธร นครสวรรค์ พะเยา และยะลา เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2544  และขยายเพิ่มอีก 15 จังหวัดในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2544 

แค่สองปีจากวันที่ ดร.ทักษิณ และ คุณหมอสงวนได้พบปะกันเป็นครั้งแรก ดร.ทักษิณและทีมบริหารของพรรคไทยรักไทย ผลักดันโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรคได้เป็นผลสำเร็จ เมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ.2544 ซึ่งเปิดให้บริการครบ 75 จังหวัดในประเทศไทยเป็นครั้งแรก 

“30 บาทรักษาทุกโรค” ถือเป็นนโยบายในระดับที่นำไปสู่การปฏิรูประบบบริการสาธารณสุขครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประเทศไทย ไม่เพียงแต่ทำให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้น ลดอัตราการเจ็บป่วย-เสียชีวิต จากการเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล แต่ยังเพิ่มพลังพลเมืองที่มีคุณภาพให้ระบบเศรษฐกิจไทย และยังเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม-เศรษฐกิจอีกด้วย 

ศ.อมาตยา เซน (Amartya Kumar Sen) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ยกย่องโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประชาชนเข้าโรงพยาบาลได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ต้องกลัวล้มละลาย ไม่ถูกมองเป็นผู้ด้อยโอกาส โครงการนี้สำเร็จได้ เพราะผลพวงของการให้คำมั่นสัญญาจากฝ่ายการเมือง และการผลักดันร่วมของภาคประชาสังคม และนักวิชาการ ทั้งยังได้รับการตอบสนองนโยบายอย่างดีจากบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขของภาครัฐ

โครงการนี้ ช่วยลดความยากจน อันเป็นผลจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ อัตราการตายของเด็กแรกเกิดลดต่ำลงจนเหลือเพียง 11 ใน 1,000 คน อายุขัยโดยเฉลี่ยสูงขึ้นเป็น 74 ปี ตัวเลขสำคัญของอัตราการตายของเด็กแรกเกิดที่ลดลงนี้ได้กระจายไปทั้งในกลุ่มคนยากจนและคนรวย ถือเป็นดัชนีของการให้หลักประกันสุขภาพที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม จาก “คนไข้อนาถา” ในวันนั้นถึงการคุ้มครองด้วย “บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค” ในวันนี้ คนไทยได้รับบริการทางการแพทย์อย่างเท่าเทียมในค่าใช้จ่ายที่น้อยที่สุด  ชาวบ้านจำนวนมากมายยังคงเปิดแผลผ่าตัดโรคร้ายแรงให้ดู และเล่าให้ลูกหลานฟังว่า 30 บาทรักษาทุกโรคช่วยให้พวกเขารอดชีวิตและมีอนาคตที่ดีต่อไปได้อย่างไร