30 บาทรักษาทุกโรค บรรเทาทุกความเหลื่อมล้ำ
‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าไม่ใช่ประชานิยมที่แค่ผ่านมาผ่านไป แต่ผ่านรัฐบาลหลายสมัย กับกาลเวลาอีกเกือบสองทศวรรษ และหากจะนับว่าเป็นหนึ่งในนโยบายที่สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ก็คงไม่น้อยเกินไป
ตัวเลขผู้มีสิทธิประกันสุขภาพมากกว่า 48 ล้านคนเมื่อปี 2560 ช่วยยืนยันว่า ‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ ทำให้การรักษาพยาบาลเป็นสิทธิพื้นฐาน คนยากจนไม่ต้องอาศัยคำว่า ‘อนาถา’ เพื่อขอรับบริการทางการแพทย์อีกต่อไป จำนวนผู้ป่วยนอกที่ใช้บริการกว่า 80,000 ล้านครั้งนั้นบอกชัดเจน
น่าสนใจที่ตัวเลขที่ยืนยันความสำเร็จของ ‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ หลักหลายล้าน มีจุดเริ่มต้นมาจากตัวเลขแค่หลักสิบ ในชื่อเล่น ’30 บาทรักษาทุกโรค’
ที่มาของชื่อนี้ ต้องย้อนไปเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2542 วันที่นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ได้มีโอกาสเสนอแนวคิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับ ดร. ทักษิณ ชินวัตร และ ‘หมอเลี้ยบ’ นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี พร้อมด้วยผู้เกี่ยวข้อง ที่พรรคไทยรักไทย
การประชุมวันนั้นผ่านไปด้วยดี แต่ติดอยู่หนึ่งข้อ คือชื่อนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ฟังเข้าใจยาก ดร. ทักษิณ จึงเสนอให้หาชื่อที่คนทั่วไปเข้าใจง่ายกว่านี้
ตัวเลขอะไรก็ได้ แต่จะฟรีไม่ได้ เพราะถ้าไม่เก็บเงินเลย หรือเก็บน้อยเกินไป คนอาจเข้ารับบริการมากเกินจนเป็นภาระ แต่ถ้าเรียกเก็บเงินมากไป ผู้ป่วยรายได้น้อยก็ไม่กล้าใช้บริการ ตัวเลขที่สมเหตุสมผลจึงสำคัญ
‘หมอเลี้ยบ’ นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี พบว่าตัวเลขไม่มากไม่น้อยที่ตามหานั้นคือ 30 บาท ไม่ได้มาจากไหนไกล แต่มาจากอัตราค่าทางด่วนเฉลิมมหานครเมื่อปี 2542
นายแพทย์สุรพงษ์เดินทางด้วยทางด่วนสายนี้เป็นประจำและสังเกตว่า รถที่ใช้ทางด่วนมีจำนวนน้อยกว่ารถที่ใช้ทางปกติ ผู้ใช้ทางด่วนคือคนที่ยอมเสียเงินเพื่อแลกกับการทำเวลา ในขณะที่ผู้ไม่เร่งรีบก็วิ่งถนนด้านล่าง ผู้ขับรถเป็นผู้ตัดสินใจเลือกว่าทางใดจะเหมาะสมกับความต้องการ โดยมีตัวเลข 30 บาทเป็นตัวสร้างความแตกต่าง
เมื่อนายแพทย์สุรพงษ์เสนอตัวเลขนี้ ดร.ทักษิณก็เห็นพ้องด้วย นิคเนม ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ ที่น่าค้นหากว่า ‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ จึงถือกำเนิดขึ้น
‘หมอเลี้ยบตัดสินใจขึ้นป้ายโฆษณาแผ่นเดียวบนทางด่วนด้วยเงินส่วนตัว ทดสอบก่อนเลือกตั้ง ปรับชื่อแคมเปญใหม่จากเดิมที่เรียกว่านโยบายประกันสุขภาพมาเขียนเป็นประโยคเดียวว่า 30 บาท รักษาทุกโรค หมอเลี้ยบไม่ได้ถามใครก่อน แค่เพียงอยากทดสอบว่าคนรู้สึกอย่างไรกับโครงการนี้บ้าง หลังจากวันนั้นแคมเปญก็ดังระเบิด ติดปากทุกคนจนถึงวันนี้ หลังชนะการเลือกตั้ง โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค ก็กลายเป็นนโยบายที่ดังที่สุด และประชาชนชอบมากที่สุดนโยบายหนึ่ง’
– นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช จากหนังสือ ‘พรหมไม่ได้ลิขิต พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช’
แม้ชื่อนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค จะตรงไปตรงมา แต่นโยบายนี้ไม่ได้ช่วยแค่เรื่องเจ็บป่วย แต่ยังช่วยบรรเทาความเหลื่อมล้ำด้วย
แต่ก่อนนี้ รายได้ต่อหัวของคนไทยอยู่ในระดับต่ำ คนไทยเกือบ 20 ล้านคน ไม่มีประกันด้านสุขภาพ ถ้าแค่เลี้ยงชีพยังยาก คงไม่ต้องสงสัยว่าหาหมอจะลำบากแค่ไหน เจ็บป่วยไม่จ่ายแพงก็หมดหวังหาย หากเคราะห์ไม่ดีเป็นโรคร้าย แม้หายก็สิ้นเนื้อประดาตัว
เคล็ดสำคัญของ ‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ คือเปลี่ยนการจัดสรรงบประมาณใหม่ จากการจัดสรรงบประมาณตามที่แต่ละโรงพยาบาลร้องขอ มาเป็นระบบเหมาจ่ายรายหัวตามจำนวนประชากรตามเขตที่ดูแล โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำหน้าที่จัดบริการสาธารณสุขควบคู่กับโรงพยาบาล
ด้วยเงินไม่มากไม่น้อยที่ 30 บาท ภายใต้ ‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ ทำให้คนจนเข้าถึงการรักษามาตรฐานได้ถ้วนหน้าเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ เจ็บป่วยธรรมดา จนถึงโรคร้ายแรง เช่น ต้อกระจก ล้างไต ฟอกเลือด วัณโรค แม้กระทั่งอุบัติเหตุ โดยไม่ต้องหมดเนื้อหมดตัว ชีวิตไม่ได้มีแค่โอกาสแค่หนึ่งครั้งอีกแล้ว เช่นเดียวกับข้าราชการหรือผู้ถือประกันสังคม
สิ่งที่น่าภาคภูมิใจที่สุด คือ วารสารการแพทย์ The Lancet ซึ่งเป็นที่นับถือในวงการแพทย์อย่างสูง ได้ชื่นชม สิทธิบำบัดทดแทนไต หรือการล้างไต ที่ได้รับการผลักดันโดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเกิดขึ้นมาจากนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค โดยระบุว่าเป็นการตัดสินใจทางการเมืองที่กล้าหาญ บนพื้นฐานของจริยธรรมและความเท่าเทียม
สถิติระบุว่าระหว่างปี 2551-2556 สิทธิประกันสุขภาพแห่งชาติได้ช่วยยืดอายุของผู้ป่วยไตวาย ระยะสุดท้ายได้เป็นจำนวนเกือบ 50,000 ราย และประเทศไทยมีอัตราการเข้าถึงบริการล้างไตที่เพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในโลก
นอกจากนี้ The Lancet ยังคำนวณพบว่า หากปี 2551 ไม่มีสิทธิประกันสุขภาพแห่งชาติ คนไทย 100,604 ครัวเรือนจะกลายเป็นครัวเรือนยากจนหลังจากจ่ายค่ารักษาพยาบาล แต่เพราะสิทธิที่ได้จากหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวนครัวเรือนยากจนหลังจากจ่ายค่ารักษาพยาบาลลดลงไปถึง 37,628 ครัวเรือน
แม้สถิติจะระบุถึงสิ่งดี แต่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก็ไม่ได้เกิดขึ้นและอยู่มาโดยปราศจากอุปสรรค
หากเปรียบเป็นเด็ก ก็เป็นเด็กที่ถูกตั้งคำถามตั้งแต่ยังไม่เกิด จนถึงวันนี้อายุ 17 ปี เกือบบรรลุนิติภาวะก็ยังต้องตกอยู่ภายใต้ผู้ปกครองที่ไม่ชอบหน้า คือรัฐบาลที่เป็นคู่แข่ง 8 ครั้ง เป็นการเลือกตั้ง 6 ครั้ง และรัฐประหาร 2 ครั้ง เปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขถึง 13 คน
และแม้จะตกอยู่ภายใต้ความท้าทายมากขึ้นในช่วงหลายปีหลัง ในประเด็น ‘ความคุ้มค่า’ แต่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย จากอุดมการณ์ของนายแพทย์สงวน แรงสนับสนุนของ ดร. ทักษิณ ความมุ่งมั่นของนายแพทย์สุรพงศ์ ก็ไม่ได้มีสถานะเป็นผลงานของพรรคเพียงเท่านั้นอีกต่อไปแล้ว แต่ได้กลายเป็นระบบสาธารณสุขที่มีประชาชนเป็นเจ้าของ และด้วยผลลัพธ์ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสร้างประโยชน์ให้คนไทยอย่างมากมาย รัฐบาลจากทุกพรรคการเมืองก็ยังต้องยอมรับ และให้การสนับสนุนสิทธิประกันสุขภาพแห่งชาติต่อไป
เพราะตอนนี้คนไทยรู้แล้วว่า การไม่ต้องอาศัยคำว่า ‘อนาถา’ เพื่อรับบริการทางการแพทย์นั้นดีอย่างไร
‘ลูกรู้ไหม คนที่เขาต้องไปวิ่งยืมเงินคนอื่นมารักษาโรค อีกหน่อยเขาจ่ายแค่ 30 บาท เขาก็จะหายป่วยได้ ลูกรู้ไหมเขาจะได้ผ่าตัดโดยเสียเงินแค่ 30 บาท อิ๊งค์ถามว่าจริงเหรอพ่อ มันจะเกิดขึ้นเหรอ พ่อบอกพ่อทำได้ มันจะเกิดขึ้นแค่มีบัตรทองนะ เสีย 30 บาทเป็นโรคอะไรต้องผ่าตัดได้หมด ยกเว้นพวกศัลยกรรมความงามเท่านั้น อิ๊งค์บอกได้เลยว่าพ่อมุ่งมั่นมาก’
แพทองธาร ชินวัตร ในหนังสือ ‘คนอื่นเรียกนายกฯแต่เราเรียกพ่อ’