ดร.ทักษิณ ชินวัตร มองว่าสิ่งสำคัญที่ SME จะต้องมีและยึดถือตลอดเวลา คือ จำเป็นที่จะต้องรู้จักพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ซึ่งการพัฒนาตัวเองนั้นเปรียบเสมือนการติดอาวุธทางปัญญา โดยเฉพาะ SME ของไทย จะต้องรู้จักการนำภูมิปัญหาไทย ไปพัฒนาให้ได้ถึงขั้นที่สามารถทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยรัฐบาลจะต้องมีหน้าที่ในการสร้างเสริมให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กให้แข็งแรงวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ.2540 สร้างความเสียหายต่อคนไทยและประเทศไทยอย่างมาก ประชาชนทุกระดับไม่ว่าจะยากดีมีจนได้รับผลกระทบ บริษัทห้างร้านต่างๆ พากันปิดกิจการ เลิกจ้าง ส่งผลให้ประชาชนต้องตกงาน หลายคนต้องตกอยู่ในภาวะล้มละลาย
บทเรียนสำคัญของวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนั้น ได้ชี้ให้เห็นว่าระบบเศรษฐกิจไทยเชื่อมเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลก ซึ่งสาเหตุที่วิสาหกิจขนาดใหญ่ของไทยล้มครืนลงก็เพราะพึ่งพิงระบบการเงินของต่างประเทศมาก จึงได้รับผลกระทบรุนแรง ในขณะที่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ได้รับผลกระทบน้อยกว่า ตรงกันข้ามกลับเป็นฐานจุนเจือระบบเศรษฐกิจในภาวะวิกฤต
ในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 SME ไม่ได้ถือเป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย แต่เป็นเรื่องที่มีการพูดถึงกันมาแล้วไม่ต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2520-2524) ก็มีการพูดถึงเรื่องนี้ เพียงแต่ข้อเสนอแนะ แนวทางและนโยบายเกี่ยวกับSME หลายประการ ยังไม่ได้รับความสนใจจากผู้กำหนดนโยบายเท่าใดนัก
โดยในขณะนั้นกลุ่ม SME ของไทยยังมีปัญหาอยู่มาก ทั้งเรื่องข้อจำกัดทางด้านตลาดสินค้า การขาดแคลนเงินทุน ปัญหาด้านเทคโนโลยีการผลิตและการจัดการ ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ ไปจนถึงการเข้าถึงการบริหารช่วยเหลือของรัฐ ซึ่งการจะแก้ไขปัญหาและส่งเสริม SME นั้นจำเป็นจะต้องทำอย่างจริงจัง ตั้งใจ ต่อเนื่องและนำไปสู่การปฏิบัติอย่างชัดเจน ถึงจะปรากฎผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม
ดร.ทักษิณ ชินวัตร มองเห็นศักยภาพของSME ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีลักษณะของความหลากหลาย เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ยืดหยุ่นและปรับตัวได้รวดเร็ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจในครอบครัว ใช้ทุนน้อย กู้เงินจากธนาคารได้จำกัด เป็นองค์กรขนาดเล็กที่ใช้คนน้อย แต่ละคนทำหลายหน้าที่ จึงจำกัดความเสี่ยงไปด้วย คุณสมบัติเหล่านี้SME จึงกลายเป็นธุรกิจพื้นฐานที่เป็นลักษณะประกันทางรอดเมื่อธุรกิจใหญ่ประสบปัญหา
โดย ดร.ทักษิณ ชินวัตร เชื่อว่าการพัฒนาศักยภาพของ SME คือ ทิศทางและยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศกำลังพัฒนาที่ยังมีข้อจำกัดเรื่องขีดความสามารถ รวมถึงทรัพยากรและความพร้อมด้านต่างๆ เพราะประเทศไทยในขณะนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการที่ต้องประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ แต่จะต้องมียุทธศาสตร์ในการสนับสนุนสินค้าจากธุรกิจของอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อสร้างการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
“ยุทธศาสตร์ใหม่ จะต้องเน้นการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ และสนับสนุนสินค้า จากธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ในการผลิตสินค้าใหม่ ที่มีเอกลักษณ์ ใช้วัสดุและแรงงานภายในประเทศ รวมถึงอาศัยภูมิปัญหาท้องถิ่น เพื่อให้ผลิตภัณฑ์สามารถตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ และต้องไม่เป็นสินค้าที่เลียนแบบสินค้าตะวันตก หรือเป็นสินค้าแมสโปรดักชั่นราคาถูกๆ ซึ่งกระบวนการในลักษณะเหล่านี้ จะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่สมดุลและยั่งยืน”
ดังนั้นในช่วงแรกเริ่มก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นช่วงหลังจากที่ประเทศไทยเพิ่งประสบวิกกฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ.2540 ดร.ทักษิณจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนา SME โดยได้ศึกษารวบรวมข้อมูลและจัดทำแผนงานเกี่ยวกับ SME อย่างเป็นระบบ เพื่อที่จะทำให้ SME นั้นสามารถก้าวไปเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ที่สร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น และสามารถพัฒนาเป็นสินค้าส่งออก ทำเงินตราเข้าประเทศได้ในท้ายที่สุด โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ภูมิปัญหาท้องถิ่นและใช้วัตถุดิบในประเทศให้เป็นผลิตภัณฑ์และสินค้าที่มีมูลค่า ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างงานและสร้างรายได้ให้ประชาชน
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ SME ค่อยๆ ได้รับการปรับปรุง พัฒนา ส่งเสริมและยกระดับมากขึ้นมาโดยตลอด จนเติบโตและมีบทบาทสำคัญทั้งในระดับพื้นฐานและระดับประเทศ มีจำนวน SME มากกว่า 3 ล้านกิจการ มีการจ้างงาน มากกว่า 11 ล้านคน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจ กลายเป็นองคาพยพที่ขาดไม่ได้ และเป็นตัวจักรสำคัญ ที่มีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ