วิกฤตเศรษฐกิจที่หนักหนาสาหัสที่สุดของประเทศไทยครั้งหนึ่งคงหนีไม่พ้น “วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง” ในปีพ.ศ. 2540 ที่หลายคนหลั่งน้ำตา หมดสิ้นเนื้อประดาตัว ธุรกิจใหญ่ล้มครืนปิดกิจการลงพร้อมการเลิกจ้าง ทำให้แรงงานผู้เป็นจุดล่างสุดของห่วงโซ่ธุรกิจต้องตกงานกันมากมายหลายชีวิต และผลจากวิกฤตนี้ก็สืบเนื่องยาวนานมาหลายปี
ในปี 2544 ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้ก้าวเข้ามาสู่ถนนการเมืองในฐานะนายกรัฐมนตรี และมีหนึ่งสิ่งที่เขามองว่าวิกฤตนี้แก้ได้ ต่างไปจากรัฐบาลเดิมก็คือ การเล็งไปที่จุดกึ่งกลางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้น้อยที่สุด นั่นก็คือ “ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก” ที่ยังพออยู่ได้และยังสามารถเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ต่อไป
“หัวใจหนึ่งของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจขณะนี้ คือต้องรีบฟื้นธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก และทำให้เขามีรากฐานที่มั่นคงแข็งแรง รัฐต้องให้ความสนใจ อย่ามัวแต่ใช้เวลาแก้ปัญหาสถาบันการเงินอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ด้านเดียว โดยปล่อยให้กิจการขนาดย่อมพากันตายตามไปหมด”
จากจุดเริ่มต้นในครั้งนี้ของดร.ทักษิณ ทำให้คำว่า ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า SMEs (Small and Medium Enterprises) กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างจริงจัง จนเกิดเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ของการบริหารเศรษฐกิจในประเทศเวลานั้นเลยทีเดียว
แต่ด้วยประสบการณ์การดำเนินธุรกิจขนาดกลางของครอบครัวมาก่อนอย่างธุรกิจผ้าไหม มาจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่อย่างโทรคมนาคม ทำให้ดร.ทักษิณมองว่า SMEs ของไทยยังมีอุปสรรคอยู่สองประการ
ประการแรกก็คือ “คนไทยขาดจิตวิญญาณของการบุกเบิกและเป็นเจ้าของกิจการ และระบบการศึกษาไทยไม่เอื้อพอให้เด็กพัฒนาความสามารถด้านการคิดจนคิดเป็น จึงทำให้หลายคนจึงเลือกทำงานรับเงินเดือนในคอมฟอร์ตโซนของตนมากกว่า
ในขณะที่ประการที่สองคือ “ประเทศไทยยังไม่มีระบบกองทุนร่วมทุน VC หรือ Venture Capital” ซึ่งเป็นเหมือนตลาดหลักทรัพย์รองรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก แต่ในต่างประเทศจะมีระบบ VC ที่แข็งแรงมาก เพียงแค่มีไอเดียที่ดีและหนทางธุรกิจที่มีแนวโน้มเป็นไปได้ ก็สามารถหาผู้ร่วมทุนได้ไม่ยาก จึงทำให้คนหนุ่มสาวมีวิญญาณแห่งการแสวงหาและกำลังใจผลักดันตัวเองให้เป็นกลายเป็นเจ้าของธุรกิจมากกว่า
นี่คือสองอุปสรรคที่ดร.ทักษิณ ในฐานะนายกรัฐมนตรีเวลานั้น พยายามผลักดันเผยแพร่หลักสูตรฝึกคนให้เป็นเถ้าแก่ และพยายามให้กลุ่ม SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นเพื่อให้เติบโตไปถึงเวทีใหญ่อย่างเวทีโลกให้ได้
“ไม่ว่าจะสมัครใจหรือไม่ก็ตาม เวทีการแข่งขันระดับโลกในทุกด้านรอไทยอยู่ข้างหน้าแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าประเทศไทยของเราจะร่วมแรงร่วมใจกันฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ พัฒนาตัวเองในทุกด้านเพื่อไปยืนหยัดบนเวทีโลกอย่างสง่างามหรือไม่เท่านั้น”
และหลังจากนั้นมาการผลักดัน SMEs ของดร.ทักษิณ มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น มีการชี้แนวทางการเป็น SMEs ที่ดีให้กับผู้ที่เริ่มสนใจว่าจะต้องมีฟังก์ชันธุรกิจสามประการ คือ มีความหลากหลาย ความคิดสร้างสรรค์ และความยืดหยุ่นพร้อมปรับตัว เมื่อไหร่ก็ตามที่กิจการมีขนาดเล็ก คนในบริษัทสามารถทำได้หลายหน้าที่ จะทำให้ใช้แรงงานน้อยลง จำกัดความเสี่ยงได้ดีขึ้น นี่จึงเป็นลักษณะการประกันทางรอดเมื่อธุรกิจใหญ่ล้มเหลว และความคิดสร้างสรรค์ที่ดีจะทำให้เกิดทางออกใหม่เสมอ
นี่คือวิสัยทัศน์ของชายคนหนึ่งเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ที่มองเห็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่สามารถเติบโตได้ จึงไม่แปลกที่วันนี้เราจะเห็นโมเดล SMEs ที่ผันตัวมาเป็น “สตาร์ทอัพ” กันมากขึ้น
ซึ่งในความจริงแล้วสองโมเดลนี้คล้ายกันตรงที่ กิจการเหล่านี้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนาดย่อม ได้มีโอกาสลุกขึ้นสร้างรายได้จากการทำธุรกิจ และสามารถแทรกตัวเข้าไปในเศรษฐกิจและสังคมเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในประเทศในวงกว้างได้ ท่ามกลางกระแสคลื่นลมของการควบรวมกิจการของธุรกิจขนาดใหญ่ที่นับวันจะมากขึ้น แต่ที่สำคัญต้องไม่ปิดกั้นและเปิดใจศึกษาความเป็นไปของต่างประเทศในเวทีโลก เผื่อวันหนึ่งเหล่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ไม่ว่าจะ SMEs หรือ สตาร์ทอัพ อาจกลายเป็น “ยูนิคอร์น” ของประเทศไทยก็ได้
“ขณะเดียวกันผมมองว่าเราไม่สามารถปิดประเทศได้ ถ้ากินใช้แต่ของที่ผลิตได้เองทุกอย่าง คล้ายกับประเทศเป็นครอบครัว เราอาจปลูกผัก เลี้ยงไก่ ปลูกข้าวกินเองได้ แต่ไม่สามารถทอเสื้อผ้า แต่ทว่าจำเป็นต้องใส่เสื้อ ครอบครัวนี้ก็ต้องเอาเป็ดไก่หรือผักที่ปลูกได้ไปแลกเสื้อผ้ามา แต่ในมุมเศรษฐกิจ ถ้าเป็นแบบนี้ครอบครัวประเทศไทยนี้ย่อมต้องทนเอาไก่ทั้งเล้าไปแลกเสื้อตัวเดียวแน่นอน”