หลังจากที่ ดร.ทักษิณ ชินวัตร จบการศึกษาระดับปริญญาโท กลับมาอาศัยในไทยได้ไม่นานนัก ได้กลับไปศึกษาต่อปริญญาเอกสาขาอาชญาวิทยา จากมหาวิทยาลัย แซม ฮุสตัน รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา จบกลับมายังประเทศไทยในปี 2521 จากนั้นเข้ามารับราชการตำรวจในกรมตำรวจ ใช้เวลา 2 ปี ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้กำกับการศูนย์ประมวลข่าวสาร
แม้จะเรียนวิชาคอมพิวเตอร์เพียง 6 หน่วยกิต วิชานี้ทำให้เขาอยากจะใช้คอมพิวเตอร์มาช่วยให้การทำงานเพื่อประชาชนรวดเร็วยิ่งขึ้น
“ตอนนั้นผมพยายามดึงเอาระบบข้อมูลต่าง ๆ มาใช้ในการสืบสวนมากที่สุด เรื่องของทะเบียนรถ ใบขับขี่ก็เป็นข้อหนึ่ง หลายครั้งเรามีโอกาสช่วยเหลือตำรวจท้องที่ในการจับกุมได้หลายคดี”
ในช่วงปี 2525 กรมตำรวจเช่าคอมพิวเตอร์โดยตรงจากไอบีเอ็มซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติ เมื่อไอบีเอ็มประสบอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่มีเสถียรภาพ ราคาค่าเช่าปรับขึ้น – ลง กรมตำรวจจำใจต้องจ่ายตามนั้น ซ้ำยังมีการปรับขึ้นค่าเช่าเกือบทุกปี ทั้งที่เมื่อใช้งานไปตัวเครื่องมีแต่เสื่อมสภาพลง ถ้าไม่ให้ขึ้นค่าเช่า ก็ต้องซื้อขาด กรมตำรวจไม่มีทางเลือก
“ผมเคยผลักดันโครงการระบบออนไลน์ แบบตั๋วรถไฟไปถึงสถานีหนึ่งก็ฉีกใบหนึ่ง เหมือนคอมพิวเตอร์ออนไลน์ พอจับผู้ร้ายได้ก็คีย์ประวัติผู้ต้องหาเข้าเครื่อง ถึงอัยการก็คีย์เข้า ถึงศาลก็คีย์เข้าไป เราจะตามผู้ต้องหาได้ตั้งแต่เข้ามาในระบบจนถึงหลุดออกไป วันหน้าเกิดเรื่องอีก เราก็เปิดไฟล์ได้”
แต่สุดท้ายโครงการนี้ไม่สำเร็จ เพราะเป็นโครงการใหญ่เกินไป ต้องใช้ความร่วมมือจากหลายฝ่าย และที่สำคัญ ระบบคอมพิวเตอร์ยังไม่ทันสมัยเท่าปัจจุบัน นั่นหมายความว่าความคิดของเขาไปไกลกว่าศักยภาพของเครื่องมือ
บริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ จำกัด อาจเป็นที่รู้จักของคนไทย แต่ก่อนหน้านั้น ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้จัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด ไอ ซี เอส ไอ เพื่อแก้ไข Pain Point ที่เกิดขึ้นในการเช่าคอมพิวเตอร์ในกรมตำรวจ ตามข้อเสนอที่ไอบีเอ็มแนะนำ คือการมีบริษัทที่สามซื้อคอมพิวเตอร์จากไอบีเอ็มและปล่อยให้กรมตำรวจเช่า ช่วยให้หน่วยงานรัฐบาลที่เช่าคอมพิวเตอร์กับผู้ผลิตต่างชาติโดยตรง ไม่ต้องถูกเอารัดเอาเปรียบจากปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ ทั้งอัตราค่าเช่า ข้อมูล และการซ่อมบำรุงที่รวดเร็วมากกว่า
ไอ ซี เอส ไอ ก่อตั้งในวันที่ 25 ธันวาคม ปี 2525 ด้วยทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท แต่ลูกค้ารายแรกกลับไม่ใช่กรมตำรวจ กลับเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งล้วนแต่เป็นหน่วยงานของรัฐทั้งสิ้น
การที่ ดร.ทักษิณได้งานประมูลให้เช่าคอมพิวเตอร์ 8 งาน ทำให้คนในสังคมฮือฮากันมาก เนื่องจากการประมูลงานของรัฐบาล เป็นงานหินที่น้อยคนนักอยากจะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เพราะมีทั้งความยุ่งยาก ซับซ้อน
แต่สำหรับ ดร.ทักษิณ ผู้ที่มีวิญญานของความเป็นผู้ประกอบการอยู่ในสายเลือด เขากลับมองว่า ‘เอาอยู่’
“ราชการคือระเบียบ กฎหมายและอำนาจ ผมเข้าใจระเบียบ รู้กฎหมายเพราะเรียนมา มีความเข้าใจในการนำธุรกิจให้ไปต่อได้ หรือไม่ได้”
นับจากวันที่เขาก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด ไอซีเอสไอ ในปี 2525 เมื่อธุรกิจขยาย จึงได้ก่อตั้งบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ จำกัด ในปี 2526
เมื่อธุรกิจที่ ดร.ทักษิณจับ มัน ‘ถูกต้อง’ ไปหมดทุกอย่าง อาณาจักรของคอมพิวเตอร์ในยุคที่แทบไม่มีคนไทยเป็นผู้เล่นในตลาด จึงขยาย ใหญ่โตมากขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดเขาจึงต้องลาออกจากราชการ ออกจากอาชีพตำรวจในปี 2530 เพื่อนำพาบริษัทให้เติบโตไปไกลกว่าคำว่าคอมพิวเตอร์ เพื่อเข้าสู่ยุคของการสื่อสารครบวงจรอย่างแท้จริง