วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เป็นฝันร้ายของประเทศไทยที่คนในชาติไม่มีวันลืม ธุรกิจนับหมื่นกิจการปิดตัวลง คนจำนวนมากตกงานอย่างไม่เคยคาดคิด ธนาคารกับสถาบันการเงินถูกสั่งปิดกว่า50 แห่ง การลงทุนชะลอตัว ค่าเงินต่ำลงหนึ่งเท่าในไม่กี่เดือน และความน่าเชื่อถือทางการเงินของประเทศแทบไม่เหลือเลย ในเวลาที่โครงสร้างเศรษฐกิของประเทศแทบทุกมิติพังทลาย รัฐบาลไทยในเวลานั้นจำเป็นต้องกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) รวมทั้งสิ้น 17,200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนในเวลานั้นคือ 963,200 ล้านบาท ไม่อย่างนั้นประเทศไทยก็ไม่มีทางฟื้นฟูเศรษฐกิจได้เลย
ประเทศไทยในทศวรรษ 2530 เคยภาคภูมิใจกับการถูกขนานนามว่า “เสือตัวที่ห้าแห่งเอเชีย” แต่ทันทีที่ประเทศเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจจนต้องขอความช่วยเหลือจาก IMF ซึ่งมาพร้อมกับเงื่อนไขเรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ความรู้สึกว่าประเทศต้อง “ปลดแอก” จาก IMF ก็ก่อตัวเป็นวาระของสังคม
หนึ่งในภารกิจที่ ดร.ทักษิณ ในฐานะนายกฯ ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ คือการแก้ปัญหาหนี้ในประเทศเพื่อฟื้นฟูสถานะของประเทศในระยะยาว รัฐบาลของ ดร.ทักษิณ ตระหนักเหมือนคนไทยในเวลานั้นคือรัฐบาลในอดีตโครงสร้างหนี้แบบทำให้ประเทศไทยและธุรกิจไทยเสียเปรียบต่างชาติมากเหลือเกิน
ประเทศไทยเวลานั้นมีปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขหลายประการ และหนึ่งในปัญหาที่แทบทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าเป็นต้นเหตุให้เกิดปัญหาอื่นๆ คือสถาบันการเงินขาดสภาพคล่องจนล้มละลาย จากนั้นการแก้ปัญหาของภาครัฐก็ทำให้ปัญหาสถาบันการเงินของภาคเอกชนลุกลามเป็นปัญหาของรัฐโดยปริยาย
กลไกหนึ่งของรัฐบาลผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อแก้ปัญหานี้คือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เป้าหมายของกองทุนนี้คือการให้ความช่วยเหลือสถาบันการเงินที่มีปัญหาร้ายแรง เงินตั้งต้นกองทุนก้อนแรกเป็นเงินทดรองยืมธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อได้เงินมาแล้วต้องลงทุน ด้วยการซื้อตั๋วเงินคงคลัง กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินมีรายได้และดอกเบี้ยระหว่าง พ.ศ.2529-2538 ซึ่งทำให้กองทุนมีเงินทั้งสิ้นเกือบ 40,000 ล้านบาทและสินทรัพย์ในมูลค่าเกือบเท่ากัน ซึ่งทำให้กองทุนฯ ในเวลานั้นช่วยสถาบันการเงินใดก็รอด และมีโอกาสฟื้นฟูกิจการ
กองทุนเริ่มส่งสัญญาณว่าจะมีปัญหาตั้งแต่ต้นปี 2539 หลังจากบริษัทเงินทุนหลายแห่งเข้าขั้นล้มละลาย พอมีข่าว คนถอนเงินออก ธนาคารขาดสภาพคล่อง กองทุนเข้าไปช่วย เมื่อคนถอนเงินมากขึ้น จำนวนสถาบันการเงินที่ปิดตัว เยอะขึ้น กองทุนก็เข้าไปช่วย วนเป็นวัฏจักรแบบนี้ จนทำให้ต้องปิดสถาบันการเงินไป 56 แห่ง เป็นหนี้เงินกู้รวม 2.5 ล้านล้านบาท
ในความเห็นซึ่ง ดร.ทักษิณ กล่าวไว้ในช่วงเปิดตัวพรรคไทยรักไทยในรายการ 60 นาที ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ดร.ทักษิณ ระบุไว้ก่อนจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่า “ความจริง56 ไฟแนนซ์ไม่ควรถูกปิดทั้งหมด ควรจะเลือกว่าอันไหนที่ไปได้หรือไปไม่ได้ พอมาปิดหมด เอาหนี้มาขาย แล้วใช้เวลานานมากกว่าจะเริ่มขาย แต่วิธีขายหนี้แบบนั้น ส่งสัญญาณว่าคนทำไม่ดีกลับได้ดี วิธีการประมูลหนี้วันนั้น คนที่ไปซื้อหนี้ ไปรวบรวมเงินจากคนที่เป็นหนี้ เอามาฝากไว้ก่อน รัฐบาลก็รู้ เช่น เก็บมา 35% แล้วเขาไปประมูลหนี้ 20% แล้วมาขายกลับที่ 35% คนที่อยู่ในฐานะจ่ายหนี้ได้ 100% ก็เอามาจ่ายแค่ 35% ก็พอ เขาก็จ่ายแค่ 35 เพราะรัฐบาลไม่ได้แยกหนี้ดีหนี้เสียออกตั้งแต่ต้น”
ทรรศนะของ ดร.ทักษิณ สนับสนุนการแก้ปัญหาหนี้สถาบันการเงินซึ่งกลายเป็นหนี้ของประเทศโดยปริยาย และในเงื่อนไขที่ภาคธุรกิจและประชาชนเผชิญปัญหาจนสถาบันการเงินเกิดหนี้เสีย รัฐบาลย่อมเป็นองค์กรเดียวในสังคมที่ต้องมีบทบาทในการแก้ปัญหานี้ เพียงแต่รัฐบาลในอดีตอาจไม่ได้แก้ปัญหาอย่างที่ควรเป็น
ดร.ทักษิณ เคยเปรียบเทียบวิธีแก้ปัญหาหนี้เสียของตัวเองกับการทำหน้าที่แพทย์รักษาผู้ป่วยเอาไว้ว่า
“ถ้าผมเป็นหมอ ผมจะมีนโยบายว่า ผมไม่ฆ่าคน ป่วยเท่าไหร่ก็จะรักษา แต่ขออย่างเดียวคือคนป่วยต้องร่วมมือ ถ้าคนป่วยไม่ร่วมมือที่จะรักษาแต่อยากจะหายป่วย อย่างนั้นก็ช่วยไม่ได้ เพราะคนป่วยอยากตายเอง แต่ถ้าคนป่วยอยากรักษาแล้วร่วมมือกับหมอแล้วอยากหาย แบบนี้ผมรักษาได้
ผมจะเป็นหมอที่ต้องรักษาคนป่วยให้หายป่วยให้ได้ทุกคน เท่าที่พึงจะทำได้ นั่นคือหลักในการรักษาธุรกิจที่กำลังลำบากวันนี้ ผมจะพยายามทำให้เขาเดินได้ จะพยายามประคับประคองให้เขาเดินได้ เพราะฉะนั้น เราจะเอาหนี้เสีย เอาคนที่ไม่แข็งแรงออกมารักษาข้างนอก เราแยกคนป่วยออกจากคนดี และให้คนแข็งแรงทำงานให้ชาติต่อไป คนป่วยรีบรักษา หายเสร็จแล้วก็ไปทำงาน นั่นคือหลักที่จะซื้อหนี้เสียออกจากระบบทั้งระบบ แต่เรามีวิธีที่ไม่ต้องไปเบียดเบียนภาษีอากรของประชาชน และขณะเดียวกันก็มีวิธีที่จะมีโอกาสที่จะทำให้ธนาคารซึ่งอาจจะเสียหายวันนี้ได้มีโอกาสได้บรรเทาความเสียหายในอนาคตได้”
ปัญหาใหญ่ที่สุดของกองทุนฟื้นฟูฯ ในยุคนั้นคือการรับหนี้ของสถาบันการเงินภาคเอกชนมาเป็นภาระหนี้ของภาครัฐ รัฐบาลในเวลานั้นจึงมีหน้าที่บริหารหนี้ให้เป็นเงินมากเท่าที่จะทำได้ สิ่งที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์คือกองทุนขายหนี้โดยไม่แยกหนี้ดีและหนี้เสียจนทำให้ประเทศสูญเสียรายได้ไปเป็นจำนวนมาก ขณะที่หลักคิดของ ดร.ทักษิณ คือการแยกหนี้เสียออกจากหนี้ดีเพื่อแก้ปัญหาระยะยาว