20 ปีที่แล้ว เย็นวันศุกร์ ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2542 หลายคนคงกำลังอยู่กับครอบครัว เดินทางกลับบ้าน หรือเฉลิมฉลองกับเพื่อนวันนั้น ดร. ทักษิณ ชินวัตร ก็มีนัด เพียงแต่ไม่ใช่ร้านอาหารหรือบ้าน แต่เป็นที่ทำการพรรคไทยรักไทย พร้อมด้วยแกนนำพรรครวมถึง น.พ. สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กับชายคนหนึ่งที่ชื่อ น.พ.สงวน นิตยารัมภ์พงษ์ การพบกันครั้งนั้นใช้เวลาสั้นๆ เกินครึ่งชั่วโมงนิดหน่อย แต่เปลี่ยนคุณภาพชีวิตของคนไทยไปตลอดกาล นั่นคือ การกำเนิดโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ ‘30 บาทรักษาทุกโรค’
ตั้งแต่ตัดสินใจว่าจะทำพรรคการเมือง ดร. ทักษิณ ชินวัตร ให้ความสนใจกับการปฏิรูประบบสาธารณสุขของไทยเสมอ มีการบันทึกถึงข้อสังเกตของเขาที่มีต่อความยากลำบากในการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขของคนยากจนอยู่เป็นประจำ ความไม่พอใจทำให้ ดร. ทักษิณมองเห็นโอกาสจากระบบประกันสุขภาพของต่างประเทศ จึงติดต่อกระทรวงสาธารณสุขเพื่อขอตัวนายแพทย์หัวก้าวหน้ามาช่วยให้คำแนะนำในเรื่องนี้ พอดีกับที่กระทรวงสาธารณสุขเห็นตรงกัน จึงตัดสินใจส่ง น.พ. สงวน นิตยารัมภ์พงษ์ มาพบ
น.พ.สงวน เป็นอดีตนักศึกษาและนายแพทย์หัวก้าวหน้า ในวัยหนุ่มเขาคลุกคลีกับชาวบ้าน ในวัยผู้ใหญ่เขาศึกษาโครงสร้างงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขจนตกผลึก เขาคือคนที่รู้ดีว่าโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจำเป็นต่อชีวิตคนไทยขนาดไหน และเชื่อว่าประเทศไทยทำได้ ขอเพียงใครสักคนที่เชื่อเหมือนกัน ซึ่ง ดร. ทักษิณ ชินวัตร ก็เป็นคนนั้น
หลังจากได้ยินหลักการประกันสุขภาพถ้วนหน้าจาก น.พ. สงวน ดร. ทักษิณ ก็รู้ทันทีว่าเป็นไปได้ และผลักดันให้เป็นนโยบายหลักของพรรคไทยรักไทย ภายใต้สโลแกน ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ นโยบายนี้นี่เองที่ทำให้พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ด้วยจำนวน ส.ส. 248 ที่นั่ง จากทั้งหมด 500 ที่นั่ง จนมีคนนิยามเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า ‘ปาฏิหาริย์ทางการเมือง’
เหตุที่คนมองเช่นนั้นไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ หากเรามองการเมืองไทยหลายทศวรรษก่อนหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนปี 2540 ไม่เคยมีพรรคใดให้ความสำคัญกับนโยบายมาก่อน แต่พรรคกำเนิดใหม่อย่างไทยรักไทย ภาตใต้การนำของ ดร. ทักษิณ กลายเป็นพรรคการเมืองแรกที่กล้านำนโยบายสาธารณสุข ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ หรือโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาเป็นนโยบายหลัก ยกระดับการเมืองไทยไปอีกขั้น พรรคอื่นๆ ต้องหันมาต่อสู้ด้วยตัวนโยบายกันจริงจัง
อย่างไรก็ตาม เส้นทางของ 30 บาทรักษาทุกโรคไม่ได้มาจากพลังปาฏิหาริย์ เพราะแม้ ดร. ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรค จะแสดงความเชื่อมั่นตั้งแต่เริ่มต้นว่าการปฏิรูปสาธารณสุขคือสิ่งสำคัญ แต่สมาชิกพรรคหลายคนมองต่าง บ้างไม่เชื่อว่าเป็นไปได้ บ้างว่าเพ้อฝัน กระทั่งในการสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนในหัวข้อ ‘อยากให้พรรคการเมืองที่มาเป็นรัฐบาล เสนอนโยบายสาธารณะสุขหรือไม่’ คำตอบก็คือไม่สนใจ ทำโพลกี่ครั้งก็จะได้คะแนนต่ำสุดทุกครั้ง จนเกือบจะถอดใจ ถ้าไม่ได้ น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นกำลังสำคัญ
‘หมอเลี้ยบ’ น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข คือคนริเริ่มนโยบายหลักประกันสุขภาพอย่างจริงจังตั้งแต่ตั้งพรรค เขาคล้ายคลึงกับ น.พ. สงวน ตรงที่เคยเป็นนักศึกษาที่คลุกคลีกับชาวบ้าน เป็นคนเดือนตุลา และเชื่อในความเท่าเทียม โดยเฉพาะด้านบริการสาธารณสุข และเช่นเดียวกับ ดร. ทักษิณ น.พ. สุรพงษ์ เห็นว่า นโยบายหลักประกันสุขภาพเป็นสิ่งจำเป็น และด้วยความคาใจที่คนยังไม่เชื่อมั่น จึงทุ่มเทอย่างมาก ด้วยการให้ความรู้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องถึงสถานการณ์การใช้บริการทางสาธารณสุขที่เกิดขึ้นจริง
อย่างแรกคือการจัดอภิปรายภายในพรรคไทยรักไทย โดยเชิญวิทยากร 4 ท่าน ได้แก่ อ.จอน อึ้งภากร ,น.พ.สงวน นิตยารัมภ์พงษ์ และศาสตราจารย์นายแพทย์อรุณ เผ่าสวัสดิ์ อดีตคณะบดีศิริราชพยาบาล ตัว น.พ.สุรพงษ์ รับหน้าที่ดำเนินการอภิปราย อ. จอน พูดเรื่องการเกิด แก่ เจ็บ ตาย โดยอิงเนื้อหาจากหนังสือที่พ่อของเขาแต่งขึ้นเอง คือ ‘จากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน’ ส่วน น.พ.สงวน พูดเรื่องหลักการของการทำโครงการหลักประกันสุขภาพ ส่วน ศาสตราจารย์นายแพทย์อรุณ พูดเรื่องการรักษาพยาบาลผู้ป่วย
ในฐานะผู้ดำเนินการอภิปราย น.พ.สุรพงษ์ ยกตัวอย่างจากเรื่องจริงของความลำบากในการรักษาพยาบาลได้เห็นภาพชัดเจน ‘ผมเล่าตัวอย่างให้ฟัง 2-3 ราย เป็นผู้ป่วยที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุข ตัวอย่างแรก มีคนหนึ่งเป็นต้อกระจก ไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลต่างจังหวัด หมอเรียกเก็บ 6,000 บาท ไม่มีเงิน หมอทำไง หมอเข็นเข้าห้องผ่าตัดใหม่ เอาเลนส์เทียมออก’ ‘ตัวอย่างที่สอง ยายกับหลานโดนหมากัด สงสัยกลัวจะเป็นหมาบ้า เลยต้องฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าให้ ยายมีเงินจ่ายได้แค่คนเดียว ยายบอกงั้นให้หลานฉีด’
จบการอภิปราย ดร.ทักษิณ เข้ามาชื่นชม น.พ.สุรพงษ์ที่สามารถยกตัวอย่างให้เห็นสถานการณ์ของระบบสาธารณสุขในเวลานั้นได้อย่างเห็นภาพ ‘ท่านเดินมาชมผม เฮ้ยหมอเรื่องที่หมอเล่านะ ผมฟังแล้ว น้ำตาซึมเลยว่ะ เพราะอะไร เพราะแกมีแพสชัน นี่คือความเป็นมนุษย์ของแก เป็นแพสชันแกคนเดียว’ หมอเลี้ยบว่า
ความพยายามที่สอง น.พ. สุรพงษ์ ตัดสินใจขึ้นป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่ ประชาสัมพันธ์โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคที่ริมทางด่วน ป้ายนั้นประสบผลสำเร็จมาก มีประชาชนให้ความสนใจสอบถามเข้ามาไม่น้อย เป็นสัญญานที่ชัดเจนว่า นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ คือของจริง
ถึงตอนนี้หากจะเรียกว่าปฏิหาริย์ เส้นทางความสำเร็จของ 30 บาทคงไม่ใช่ความอัศจรรย์ที่ไร้คำตอบ แต่เป็นปาฏิหาริย์เพราะแพสชันที่เห็นแก่ประชาชนของ ดร. ทักษิณ ความมุ่งมั่นของ น.พ. สุรพงษ์ นโยบายที่เกิดจากหลักการที่ถูกต้องและความเท่าเทียมของ น.พ. สงวน ทำให้งานปราศรัยทุกครั้งของพรรคไทยรักไทยมีคนแน่นขนัด ชื่อของ ดร. ทักษิณ ชินวัตร พรรคไทยรักไทย และ 30 บาท คือชื่อที่ทุกคนจำขึ้นใจ นำมาสู่ชัยชนะของการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงถล่มทลายอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และต่อมานโยบายนี้ก็ถูกบรรจุใน 11 วาระแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2544 และเป็นรัฐสวัสดิการที่ให้ประโยชน์กับคนไทยมากที่สุดจนถึงทุกวันนี้ ในฐานะโครงการที่ลดจำนวนประชาชนคนไทยที่ทุกข์ยากจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ที่ทำให้ถึงขั้นล้มละลายลงได้นับไม่ถ้วน ทั้งได้รับคำชื่นชมมากมายจากนานาชาติ บุคคลสำคัญของโลก และองค์กรต่างๆ อีกมาก รวมถึงธนาคารโลกที่ออกมายอมรับถึงความยั่งยืนของโครงการนี้อย่างจริงใจ
‘ผมพยายามมองให้ประเทศไทยไม่อยู่ในลักษณะที่ต่ำกว่าสาธารณสุขมูลฐาน จึงคิดในหลายๆ จุด ดังนั้นจึงอยากจะให้บริการแก่ประชาชนที่เท่าเทียม และเรื่องนี้เป็นการปฏิวัติระบบสาธารณสุขแห่งชาติครั้งยิ่งใหญ่ และเป็นประวัติศาสตร์ หากทำได้ดีหรือไม่ดี เราทั้งหมดจะอยู่ในประวัติศาสตร์’ – ดร. ทักษิณ ชินวัตร