ด้วยความที่ดร.ทักษิณเป็นคนทำงานเชิงรุกมาตลอด ดังนั้นในช่วงที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็มักจะขอให้ทุกคนที่ทำงานด้วยกันนั้น ‘คิดนอกกรอบ’ อยู่เสมอไม่ว่าจะเป็นทีมคณะรัฐมนตรี , ข้าราชการการเมือง รวมถึงข้าราชการที่ทำงานร่วมกันอยู่ทั่วประเทศให้พยายามเปิดมุมมองการทำงานของตนให้กว้างขึ้น คิดในมิติที่หลากหลายมากขึ้น จะผิดหรือถูกก็สามารถนำเสนอได้ตราบใดที่เห็นว่าน่าจะเป็นความคิดเห็นที่มีประโยชน์ ซึ่งทำให้ทีมทำงานทั้งประเทศมีความกระตือรือร้นโดยอัตโนมัติ บางคนถือโอกาสในการเริ่มต้นสร้างนิสัยการทำงานใหม่ให้กับตัวเองเสียเลยเพราะไม่คุ้นเคยการทำงานลักษณะนี้มาก่อน
จากการทำงานที่มีผู้ร่วมงานมากมายทำให้ ดร.ทักษิณมองข้ามข้อผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ บางอย่างไปได้ เป็นการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ต้องให้ความสำคัญกับ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ อยู่เสมอ ไม่หลงผิดคิดไปว่าคนที่อายุมากกว่าหรือผ่านประสบการณ์มามากกว่านั้นจะต้องถูกไปหมดทุกเรื่อง คนในองค์กรหรือทีมจะต้องรวมพลังสมองให้คนหลาย ๆ คนมาช่วยกันคิด มาร่วมกันทำให้เกิดความรู้ใหม่ ๆ เพราะ ดร.ทักษิณตระหนักอยู่เสมอว่า ‘โลกนั้นหมุนไปเรื่อย ๆ’
และแม้ว่าจะเคยทำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทมาก่อน แต่กลับสอนผู้นำที่ทำงานร่วมกัน ‘ไม่ให้ใช้เงินแก้ปัญหา’ แต่ให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้มากที่สุด อย่างการทำธุรกิจเมื่อขาดสภาพคล่องนั้นไม่ควรหาทางออกด้วยการกู้เงินจากธนาคารทันทีเพราะจะตามมาด้วยภาระดอกเบี้ยเกินตัว แต่ควรเริ่มแก้ไขปัญหาด้วยการเริ่มต้นที่ความคิดว่า จะมีแนวทางปรับเปลี่ยนหรือสร้างสรรค์ธุรกิจต่อไปอย่างไร โดยต้องระดมความคิดเห็นจากคนในองค์กรให้เต็มที่ด้วย
“ทฤษฎีของ ดร.เอ็ดเวิร์ด เดอโบโน่ ที่เขียนหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์คือ ถ้าหากเราไม่กล้าคิดนอกกรอบเราก็จะจมอยู่กับเรื่องเดิม ๆ ดังนั้นในเวลาที่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น เขาจะเอาทีม Operation Research เข้ามาดู ทีมนี้คือทีมที่เอาคนหลากหลายทางวิชาการ วิชาโน้นวิชานี้หลายๆ อย่างมารวมกัน แล้วมาคิดมองแต่ละมุม มุมมองของวิศวกรมองอย่างไร มุมของนักการตลาดมองอย่างไร นักการเงินมองอย่างไร แล้วมามองทั้งระบบ ถึงจะเห็นทางแล้วค่อยเริ่มแก้ไขปัญหา”
ดร.ทักษิณยังบอกให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องคิดนอกกรอบเพื่อให้การบริหารงานไม่กระจุกอยู่ที่คน ๆ เดียวอีกต่อไป งานหลักของผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ควรจะเน้นไปที่การเซ็นต์เอกสาร ร่วมงานเปิดผ้าแพรคลุมป้าย เป็นเจ้าภาพงานศพหรืองานแต่งงานเพียงเท่านั้น แต่ถ้าเราคิดนอกกรอบ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องปรับกระบวนการทำงานใหม่อีกครั้ง นโยบายผู้ว่าฯ CEO จึงเกิดขึ้นเพื่อไม่ให้ผู้ว่าราชการรอรับคำสั่งจากส่วนกลางแล้วจึงค่อยทำงานแบบเดิม ๆ อีกต่อไป แต่ให้เปลี่ยนรูปแบบการทำงานมาเป็น ‘ประธานคณะผู้บริหารของจังหวัด’ มีหน้าที่บริหาร วางแผน คอยติดตาม คอยจี้ คอยให้กำลังใจ ให้ทุกคนทำในสิ่งที่ถูกต้อง
“การบริหารงานแบบผู้ว่าฯ CEO นั้นเราต้องการเห็นอะไร? ต้องการเห็นเจ้าภาพที่มองเห็นทุกตารางนิ้วในจังหวัดของท่าน เป็นภารกิจหน้าที่ที่ท่านจะต้องดูแลจัดการแก้ไข ป่าไม้ถูกทำลาย ไม่สามารถอ้างว่าไม่รู้เรื่องเพราะอยู่ไกล คำตอบอย่างนั้นไม่ใช่คำตอบของโลกยุคใหม่อีกต่อไปแล้ว”
ดร.ทักษิณ ชินวัตร