โลกยุคปัจจุบัน การเรียนรู้ไม่ได้อยู่เฉพาะในห้องเรียนอีกต่อไป อินเทอร์เน็ตคือสิ่งที่ปลดล็อกการเรียนรู้มาหลายสิบปี แต่ก่อนหน้านั้น ช่วงที่ ดร.ทักษิณ เป็นรัฐบาลที่นำนโยบายพรรคเพื่อไทย การเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Life Long Learning ที่คนไทยได้ยินคำนี้คำแรกจาก ดร.ทักษิณ
2545 เป็นปีแห่งการทำงานอย่างหนักของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย หลังจากชนะการเลือกตั้งสมัยแรก นอกจากจะเดินหน้าทำงานตามนโยบายที่ประกาศไว้เป็นสัญญาประชาคม เรื่องของเยาวชนเป็นหนึ่งในภารกิจที่รัฐบาลพรรคไทยรักไทยทำควบคู่ไปด้วย เพื่อสร้างชาติผ่านคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นความหวังของประเทศ ทุกครั้งที่ ดร.ทักษิณ จะต้องแสดงปาฐกถาที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ หรือการเสริมสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ นักการเมือง หรือ ผู้ว่าราชการจังหวัด เขามักจะบอกให้ทุกคน อย่าหยุดที่จะเรียนรู้
“ถึงจะเรียนจบระดับสูงเพียงใด แต่หากหยุดการเรียนรู้เรื่องราวใหม่ ๆ ความรู้ที่เรียนมาจะไม่สามารถต่อยอดได้ และวิธีที่จะเรียนรู้ด้วยตัวเองง่าย ๆ คือการอ่านหนังสือ นอกจากความรู้ใหม่ ๆ ที่คนทุกวัยจะต้องหมั่นเติมให้เต็มตลอดเวลา การมีความรู้ไปพร้อมกับการแก้ปัญหา จะฟันฝ่าอุปสรรคได้ทุกรูปแบบ”
ในช่วงเดือนเมษายน 2545 คณะทำงานโครงการสภาเยาวชนไทย พรรคไทยรักไทยจัดทำโครงการ ‘เยาวชนรุ่นใหม่ ใส่ใจบ้านเมือง’ ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีเยาวชนกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนที่มีความใฝ่ฝันอยากเป็นนายกรัฐมนตรี หรือนักการเมืองที่ต้องการพัฒนาประเทศ ได้แสดงศักยภาพที่มีออกมา ผ่านกิจกรรมและการให้ความรู้ กิจกรรมที่ทำร่วมกันก็มีทั้งการฝึกอบรมความรู้ด้านต่าง ๆ การจัดกิจกรรมเขียนเรียงความ และพาชมสถานที่การทำงานของรัฐบาล ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว เมื่อผ่านการอบรมจะทำให้เยาวชนได้เรียนรู้ที่คิดอย่างมีขั้นตอน ซึ่งมีทั้งหมด 3 ขั้นตอน
ขั้นตอนแรก คือ การแสวงหาว่าอยากจะเรียนรู้อะไร
ขั้นตอนที่สอง คือ การเรียนรู้สิ่งเหล่านั้นให้ดี ให้รู้จริง
ขั้นตอนที่สาม คือ การประยุกต์สิ่งที่เรียนไปสู่การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ในตอนนั้น ดร.ทักษิณ รู้ถึงปัญหาที่แท้จริงของระบบการศึกษาไทย ที่ยังติดกับดักกับการเรียนรู้จากตำรามากเกินไป อยู่กับการท่องจำและทำข้อสอบให้ได้คะแนนสูง ๆ และได้ใบปริญญา ซึ่งเขามองว่า การเรียนรู้ที่เหมาะกับโลกยุคใหม่ ควรจะเป็น Learning by doing หรือ Activity Based Learning นำเอาสิ่งที่เรียนทั้งหมดมาประยุกต์ใช้ร่วมกับกิจกรรม
‘ถ้าระหว่างระหว่างชีวิตนักศึกษาเรามุ่งขอประกาศนียบัตรเพียงอย่างเดียว อย่างอื่นไปตายเอาดาบหน้า จะทำให้เราท่องแต่หนังสือ ท่องไม่ทันก็ต้องไปกวดวิชา สอบเสร็จก็ได้ประกาศนียบัตร ฉลองจบการศึกษาแล้วก็เลิกศึกษา ทำให้เรากลายเป็นบุคคลซึ่งนับวันจะถอยหลัง’
ดร.ทักษิณ เชื่อว่า คนที่ดีที่สุด ไม่จำเป็นต้องเรียนหนังสือเก่งที่สุด ควรเป็นคนที่มีเพื่อนและมีวิชา และจะสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดีที่สุด คนเรียนเก่งแล้วไม่มีเพื่อน สุดท้ายชีวิตอาจจะลำบากได้ เขามองว่า ในอดีตประชาชนศึกษาแขนงวิชาของใครของมัน แล้วใช้สิ่งที่ศึกษามาไปตลอดชีวิตที่เหลือ แต่ปัจจุบันการศึกษาในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเป็นเพียงบทเริ่มต้น สิ่งที่เราต้องการไม่ใช่แค่การเล่าเรียนอย่างเดียว แต่เป็นการพัฒนาศักยภาพที่จะศึกษาและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเส้นทางของชีวิต
Life Long Learning เป็นแนวคิดที่เขาอยากให้คนไทยทั้งประเทศ ไม่จำกัดเฉพาะเยาวชนวัยเรียน ได้เรียนรู้ เพิ่มความรู้ให้ตัวเองตลอดชีวิต แต่หน่วยงานด้านการศึกษา อย่างโรงเรียนระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา จนถึงระดับมหาวิทยาลัย นำเอาแนคิดนี้ไปปรับใช้ จนเป็นที่มาของการก่อตั้งศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ตามสถานศึกษาต่างๆ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้บริการความรู้ในรูปแบบต่างๆ ให้ทุกคนได้เข้ามาค้นคว้าได้ตลอดเวลา
กระทรวงพลังงานถือเป็นกระทรวงเกรดเอที่ใคร ๆ ก็อยากเข้าไปนั่งทำงานอยู่ที่นั่น เพราะมีงานที่ท้าทายความสามารถมากมาย พลังงานคือทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุดอย่างหนึ่งของโลก ไม่แปลกถ้ากระทรวงนี้จะเต็มไปด้วยบุคลากรที่เก่งกาจในหลายสาขา ในการประชุมเชิงปฏิบัติการยุทธศาสตร์พลังงาน งานระดมสมองจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับพลังงานจากทั่วประเทศเข้ามาประชุม หนึ่งในสิ่งที่เขาบอกกับกระทรวงพลังงานนั้น คือการให้ข้าราชการ หลุดจากความเป็นตัวเอง
‘ผมอยากจะขอให้ที่ประชุมนี้ มองอะไรที่หลุดออกจากตัวเอง บางคนชำนาญเรื่องไฟฟ้า บางคนชำนาญแก๊ส บางคนชำนาญเรื่องน้ำมัน บางคนมาจากพวกชีวมวล บางคนเป็นนักฟิสิกส์ ชำนาญเรื่องความร้อน
สิ่งที่ตัวเองรู้เป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องหลุดออกจากตัวเอง เพื่อลองไปฟังคนอื่นว่าคนอื่นรู้อย่างไรแล้วเอามาผสมกันจะได้ยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุด แต่ถ้าบางคนรู้เรื่องเดียวแล้วคิดว่าเรื่องของเรานั้นดีที่สุด ไม่มีใครดีกว่าเราแล้ว ตรงนี้อันตราย’
เขาไม่เคยเป็นแก้วที่เอ่อล้นไปด้วยน้ำ แก้วของเขามีพื้นที่ให้น้ำหลายชนิด หลายรสชาติเติมลงในแก้วใบนั้นได้ทุกวันไม่มีวันเต็ม เหมือนทุกวันนี้ที่เขาใช้เวลาทั้งหมดไปกับการใฝ่หาความรู้ทางธุรกิจหลายสาขาที่เขายังไม่รู้อีกมากมายเพื่อที่จะได้มาบอกต่อความรู้กับคนอื่น ๆ อย่างที่เขาเคยทำมาโดยตลอด