ก่อนปี 2540 ดร.ทักษิณ เข้าร่วมงานในหลายพรรคการเมือง ผ่านร้อนหนาวในสนามการเมืองมาได้ไม่กี่ฤดู ก็ถึงเวลาที่อยากจะเปลี่ยนแปลงการบริหารภายในพรรคที่ตนเองเข้าไปดูแลอย่างพรรคพลังธรรม เพื่อให้ทำงานบริหารประเทศคล่องตัวมากขึ้น แต่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้
ภูมิธรรม เวชยชัย นักศึกษาซึ่งเป็นนักกิจกรรมทางเมืองและเพื่อน ๆ กลุ่ม 14 ตุลา เห็นว่า เขาเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ มีความสามารถ มีพื้นฐานด้านการเมืองจากครอบครัว และเขาเองก็สนใจทำงานการเมือง มีศักยภาพที่จะสร้างพรรคการเมืองเองได้ ทั้งหมดจึงได้มีโอกาสพูดคุยกัน คำแรกที่เขาพูดกับภูมิธรรม คือ “ผมอยากทำ”
การก่อตั้งพรรคไทยรักไทยเริ่มต้นขึ้นด้วยวิธีกระบวนการดึงการมีส่วนร่วม ซึ่งถูกนำมาใช้ในทุกกิจกรรมของการสร้างพรรคและนโยบาย ทุกอย่างผ่านการระดมสมองจากผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายเสมอ ไม่ได้เกิดจากตัวเขาเพียงคนเดียว ทีมงานก่อตั้งพรรคฯ ได้จัดให้เขาไปพูดคุยกับนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ด้วยการร่วมวงรับประทานอาหาร พูดคุยแบบสบาย ๆ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ผลัดกันเป็นผู้ถามและผู้ถูกถาม แต่ส่วนใหญ่ ดร.ทักษิณ มักจะเป็นผู้ถูกถามเสมอ “ผมไม่อยากใช้ Gut Feeling ในการบริหารประเทศ”
ทีมงานก่อตั้งพรรค จัดกิจกรรมระดมความคิดเห็นแบบนี้ไปพร้อมกับการส่งคนในพรรคลงพื้นที่ไปรับฟังปัญหาประชาชน จนถึงเวลาที่พรรคไทยรักไทย จดทะเบียนก่อตั้งเป็นพรรคการเมืองใหม่ เป็นทางเลือกใหม่ให้กับประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ปี 2541 เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการสร้างพรรคการเมืองคุณภาพ นอกจากนโยบาย ซึ่งมีทีมยุทธศาสตร์ของพรรคเป็นผู้จัดทำแล้ว การทำการตลาดในช่วงปี 2539 แนวคิด Human Centric หรือ Customer Centric ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในประเทศไทย โดย ดร.ทักษิณ ชินวัตร
“ผมไม่อยากให้ประเทศไทยแพ้เวียดนาม ไม่อยากเห็นเด็กไทยสู้เวียดนามไม่ได้”
ส่วนหนึ่งที่ทำให้การคิดนโยบายง่ายขึ้น เพราะเขามีลูกชายและลูกสาวทั้ง 3 คน การคิดค้นนโยบายและการสื่อสารบางอย่าง จึงสะท้อนตัวตนของเขาออกมาด้วย ปี 2541 โฆษณาของพรรคไทยรักไทยชิ้นหนึ่ง มีภาพเขายืนถ่ายรูปกับ อิ๊งค์ – แพทองธาร ชินวัตร เป็นกิจกรรมในแคมเปญ “ไม่ต้องการให้เด็กเสียเวลาบนรถติด 2-3 ชั่วโมง” สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหารถติดเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานาน แต่ไม่เคยถูกพรรคการเมืองใดสะท้อนปัญหาออกมา ทีมยุทธศาสตร์ของพรรคไทยรักไทยมองเห็นปัญหานี้เป็นพรรคการเมืองแรกมา 21 ปีแล้ว ประเด็นของการสร้างเนื้อหาในการสื่อสารพรรคการเมือง คือ เขาในวันนั้น เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ มองประเทศไทยในอนาคตอย่างไร จะใช้ความรู้ความสามารถในการบริหาร มาปรับใช้ในการบริหารประเทศอย่างไร
ในช่วงนั้น บริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ เปิดบริษัทที่ประเทศอินเดียและสิงคโปร์ แนวคิดตอนนั้นจึงได้เอามาปรับใช้กับวิธีคิดทางการเมืองด้วย คืออยากเห็นประเทศไทยแข่งขันได้ในระดับโลก” ก่อนที่จะไปในระดับโลก ประเทศไทยเข้าสู่วิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 คนไทยประสบปัญหาสถานะทางการเงินทั้งประเทศ เขาต้องการทำให้คนไทยลืมตาอ้าปากได้ มีพื้นฐานชีวิตที่ดี ทั้งที่ชีวิตส่วนตัวของในตอนนั้น ไม่จำเป็นจะต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศก็มีชีวิตที่ดีพร้อม แต่ความตั้งใจที่แท้จริงของเขา ยิ่งใหญ่กว่านั้น “พื้นฐานชีวิตที่ดี คือสุขภาพ รัฐดูแลให้ อันที่สองคือประชาชนมีหนี้สิน รัฐปลดหนี้ให้และให้เงินกู้ อันที่สามคือ ลูกมีการศึกษา ต้องทำงาน ไม่ก็ทำธุรกิจเอสเอ็มอี ทุกอย่างคิดจากการเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง คือแนวคิด People Centric หรือ Human Centric”
พรรคไทยรักไทยถือเป็นพรรคการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกใหม่และแก้ปัญหาให้กับประเทศไทยในตอนนั้น จุดขายคือนโยบายที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่ได้ใช้นักการเมืองเป็นตัวนำในการสื่อสารเหมือนในอดีต “เรา Stand alone ไม่ได้ เป็นประเทศปิดไม่ได้ การเติบโตของประเทศ ต้องเป็นผู้แข่งขันที่ดี คนในประเทศมีรายได้ มีชีวิตที่ดีขึ้น นี่คือพื้นฐาน”
หากเขายังเป็นผู้นำประเทศ คนไทยอาจจะอยู่ในจุดใดจุดหนึ่งพร้อมๆ กับประเทศอื่นในเวทีโลก คนไทยจะมีความภาคภูมิใจกับผู้นำประเทศที่มีวิสัยทัศน์ล่วงหน้าเป็นทศวรรษคนนี้