สรุปประเด็น PART 3 - Thaksin Official


     การทำธุรกิจที่ผ่านมาอย่าง แพ็คลิงค์ มาถึงโฟนลิงค์  ทำให้ ดร.ทักษิณ รู้ว่าคลื่นความถี่วิทยุมีความสำคัญในแง่ของธุรกิจ  แต่ในเวลาเดียวกัน  เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์กับประชาชน  เป็นที่มาของ ‘Bus Sound  โครงการวิทยุบนรถเมล์’

     โครงการวิทยุบนรถเมล์  คือโครงการที่ ดร.ทักษิณ  ต้องการให้กลุ่มคนที่มีรายได้น้อย ปานกลาง  คนที่เดินทางด้วยรถประจำทาง   ได้มีโอกาสได้ฟังเพลง ฟังข่าว เหมือนคนทั่วไปที่มีเครื่องเล่นเพลงส่วนตัว  ในยุคนั้นต้องเป็นคนที่มีรายได้ในระดับหนึ่งแล้วเท่านั้นที่จะมีเครื่องเล่นเพลงพกพาได้   และโทรศัพท์มือถือไม่ใช่ปัจจัยที่ 5 เหมือนตอนนี้

     “ผมเป็นคนชอบคิดในทางนี้ ผมเป็นคนชอบอย่างนี้ คืออะไรที่คนอื่นเขาทำกันแล้ว ผมก็พยายามคิดอะไรที่คนอื่นเขายังไม่ทำ”

     Bus Sound  เริ่มต้นขึ้นจากการติดต่อของนายประมุท สูตะบุตร อดีตผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. ที่ได้รับการติดต่อจาก ขสมก.ให้ไปช่วยทำวิทยุบนรถเมล์ให้   เป็นช่วงที่นายสมัคร สุนทรเวชเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 

     นายประมุท  ติดต่อมายัง ดร.ทักษิณ ว่าสนใจทำหรือไม่   และเขาไม่รอช้า  เริ่มโครงการ Bus Sound   ในปี 2530  รอเรื่องอนุมัติอยู่นาน   ลงทุนไปประมาณ 20 ล้านบาท  แต่ถูกระงับโครงการ   รัฐบาลในตอนนั้นให้เหตุผลว่า คลื่นที่ใช้ทำโครงการนี้ เป็นคลื่น SCA เป็นระบบใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครใช้มาก่อน  เป็นคลื่นแทรกที่ควบคุมไม่ได้  อาจมีผลต่อความมั่นคงของประเทศ

     โครงการ Bus Sound กลับมาอีกครั้ง  เพราะมีการสำรวจความต้องการของประชาชน  โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประชาชนต้องการให้ติดตั้งวิทยุบนรถเมล์สูงถึง 90%

ในตอนนั้น ดร.ทักษิณ ค้นคว้าหาข้อมูลจนพบว่า คนที่เดินทางด้วยรถเมล์มีถึง 3 ล้านคน ถ้าได้ฟังเพลงระหว่างเดินทาง น่าจะทำให้ผ่อนคลายจากการจราจรที่ติดขัด ขณะเดียวกันในเชิงธุรกิจ ก็มีโอกาสที่อาจจะเกิดขึ้นในโปรเจคนี้ด้วย  

     “สิ่งที่ผมดีใจก็คือ การทำอะไรที่เป็นพับลิค ประชาชนกว่า  3 ล้านคนต้องเบียดเสียดกันบนรถเมล์จะได้มีโอกาสฟังเพลง ฟังข่าว เป็นการผ่อนคลายระหว่างเดินทางบ้าง”

     โครงการ Bus Sound เริ่มขึ้นด้วยการใช้ระบบ FM.SCA ทำสัญญา 5 ปี กับ ขสมก. ด้วยการจ่ายค่าสัมปทานเดือนละ 1 แสนบาท 

     ตอนนั้น ดร.ทักษิณ ไม่ได้คิดว่าระบบการส่งสัญญาณที่อาศัยคลื่นความถี่แฝงจากคลื่นอื่น  ไม่เหมือนกับการส่งสัญญาณจากวิทยุโดยตรง  ทำให้เสียงที่ส่งออกมาขาดความชัดเจน  ในบางพื้นที่ไม่สามารถรับสัญญาณได้  หรือเสียงขาดหายไปในบางช่วง  ยิ่งถ้ารวมกับเสียงเครื่องยนต์รถเมล์ร้อน  เสียงภายนอกจากการเปิดกระจกระบายอากาศ  เสียงการจราจร  ไม่ต้องพูดถึงว่าจะได้ยินเสียงเพลงเต็มเพลงหรือไม่

     ดร.ทักษิณ  แก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยการประมูลเวลาจากสถานีวิทยุคลื่นหนึ่งเพื่อใช้เป็นแม่ข่าย แก้ปัญหาเสียงสัญญาณไม่ชัดเจน และจะไม่จำกัดกลุ่มผู้ฟังเฉพาะบนรถเมล์เท่านั้น  ด้วยการทำสถานีวิทยุคลื่นหนึ่งเอง  กลายเป็นการพลิกกลับกลุ่มลูกค้ามาเป็นกลุ่มคนฟังทั่วไปที่รับฟังรายการเพลงผ่านคลื่นวิทยุ  ส่วนลูกค้ากลุ่มรองคือผู้ฟังบนรถเมล์นั่นเอง

     ทำให้คลื่นวิทยุนั้น “รอด”

     จากคลื่นวิทยุในโครงการ Bus Sound  กลายเป็นการต่อยอดไปสู่ธุรกิจที่ใช้คลื่นความถี่วิทยุ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะนำไปสู่ธุรกิจหลากหลายสาขา อย่างซิตี้คอลล์และเคเบิลทีวี จนนักหนังสือพิมพ์ในยุคนั้นขนานนาม ดร.ทักษิณว่า  เป็น ‘เจ้าพ่อคลื่นวิทยุ’ และหากเขายังทำโครงการนี้อยู่ เขาจะกลายเป็นคนแรกที่บุกเบิก PODCAST ที่กำลังเป็นที่นิยมกันอยู่ตอนนี้