เชื่อมต่อความรู้ทั่วไทยด้วย IBC - Thaksin Official


              ในยุคที่ประเทศไทยมีสถานีโทรทัศน์ช่องหลักเพียง 5 ช่อง  3,5,7,9,11 แต่ละช่องล้วนมีภารกิจของตัวเองที่ต้องนำเสนอต่อผู้ชม  หากต้องการดูเนื้อหาแบบอื่นก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ ดร.ทักษิณ  ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำแห่งวงการโทรคมนาคม  เขาไม่รีรอที่จะใช้ความรู้ในแวดวงสื่อสารที่ได้เป็นผู้บุกเบิกวงการนี้ของประเทศไทย ด้วยการเพิ่มช่องทางการรับชมรายการโทรทัศน์ให้มากขึ้น   ซึ่งคีย์แมนคนสำคัญ ได้ก้าวเข้ามาในชีวิตของ ดร.ทักษิณ ทำให้ได้คำแนะนำด้านธุรกิจการสื่อสาร นั่นคือนายประมุท สูตะบุตร อดีตผู้อำนวยการ อสมท. นายประมุทได้รู้จักกับนายวิลเลียม ไลล์ มอนซัน จากบริษัท เคลียวิว อินเตอร์เนชั่นแนล  จำกัด ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำธุรกิจด้านการวางระบบสื่อทั้งสามคนได้รู้จักกัน เมื่อมีข้อมูลความสำเร็จของธุรกิจเคเบิลทีวีในสหรัฐอเมริกาที่มีสมาชิกมากกว่า 50 ล้านคน   เป็นโมเดลทางธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากสหรัฐ ดร.ทักษิณ พร้อมแล้วที่จะคว้าโอกาสนี้ให้คนไทย 

ปี 2528 เขาได้ก่อตั้งบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง จำกัด หรือไอบีซี  เป็นตัวแทนในการยื่นเสนอโครงการ ‘เคเบิลทีวี’ ต่อองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ อสมท. เพื่อพิจารณา แต่ก็ไม่ผ่านความเห็นชอบ  เพราะ… ‘ใหม่เกินไป’ กว่า ดร.ทักษิณ จะก่อร่างสร้างธุรกิจเคเบิลทีวีให้เกิดขึ้นมา   เวลาล่วงเลยจนเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 2 คน ซึ่งขณะนั้นกระทรวงนี้กำกับดูแลคณะกรรมการประสานงานการจัดและบริหารความถี่วิทยุแห่งชาติหรือ กบถ.จัดสรรคลื่นความถี่วิทยุให้หน่วยงานรัฐและเอกชน

เดือนมีนาคม ปี 2532   โครงการไอบีซีเคเบิลทีวีได้รับอนุมัติ ออกอากาศครั้งแรกในเดือนกันยายน มูลค่าการลงทุนในไอบีซี เคเบิลทีวี  มากกว่า 50 ล้านบาท และยังมีค่าใช้จ่ายด้านโปรแกรมเดือนละ 4-5 ล้าน มีรายได้จากค่าบอกรับเป็นสมาชิก  ประเภทโรงแรมเดือนละ 150 ต่อห้อง ส่วนสมาชิกตามบ้านเดือนละ 600 บาท มนุษย์มักถูกทดสอบด้วยอุปสรรคเสมอ

โครงการไอบีซี เคเบิล ทีวี มีนายวิลเลียม บริษัท เคลียร์วิว เป็นผู้ริเริ่มโครงการ  ทำงานร่วมกันแบบ ‘ว่าจ้าง’ ด้วยการจ่ายเงินเดือนให้วิลเลียมเดือนละ 1 แสนบาท ในระหว่างที่รอโครงการอนุมัติจาก อสมท.ถึง 2 ปี ธุรกิจเคเบิลทีวีของเขาค่อย ๆ เติบโตต่อเนื่องกว่า 1 ปี  จนเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2533 อสมท.อนุมัติให้ บริษัท สยาม บรอดคาสติง จำกัด ได้รับสัมปทานโครงการเคเบิลทีวีอีกราย  โดยใช้ชื่อสถานีโทรทัศน์ว่า ‘ไทยสกายทีวี’ เปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2534 

การทำธุรกิจย่อมมีคู่แข่งเป็นเรื่องธรรมดา  ดร.ทักษิณ ตัดสินใจปรับผังรายการไอบีซีเพิ่มขึ้นทันที   จากเดิมที่มี 2 เป็นรายการภาษาอังกฤษล้วน เพิ่มช่องภาษาไทย 1 ช่องในปี 2534  นำช่อง CNN , NBC ,ABC ,NHK มาออกอากาศ กวาดลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการกีฬาสำคัญ  แยกช่องกีฬา ข่าวบันเทิง ข่าวและช่องภาษาไทย มีลูกค้าขอเข้ามาเป็นสมาชิกกับไอบีซีมากขึ้นจนแทบติดตั้งไม่ทัน

“เนื้อหารายการในต่างประเทศ แตกต่างจากรายการในไทย  เมื่อนำเข้ามาจึงได้ประโยชน์สองด้าน คือการสร้างความแตกต่างเชิงธุรกิจ  ในเวลาเดียวกันคือเปิดกว้างความรู้ใหม่ ๆ ให้กับคนไทย ด้วยคุณภาพของเนื้อหาที่ไม่เคยมีในสถานีโทรทัศน์ในไทยมาก่อน”

ส่วนสถานีโทรทัศน์ไทยสกายทีวี  ตั้งทีมข่าวในประเทศเพื่อสร้างจุดเด่น  ระดมนักข่าวหนังสือพิมพ์สร้างเนื้อหา ภาพยนตร์จีน เก็บค่าสมาชิกเดือนละ 1,000 บาท สูงกว่าไอบีซีที่เสียค่าสมาชิก 600 บาท  แม้จะมีคู่แข่ง  แต่เขาพาไอบีซีเติบโตจนเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้สำเร็จในปี 2534 จดทะเบียน 36 ล้านหุ้น  จากราคาพาร์ 10 บาท ทำราคาได้สูงสุดไปถึงหุ้นละ 326 บาท มูลค่าในตลาดฯรวม 11,736 ล้านบาท  

“โดยปกติ การเป็นผู้ตามมันยากกว่า  แต่ถ้าเราวิเคราะห์คู่แข่งขันชัดเจน  และเห็นจุดที่เราสามารถไปได้สบาย อย่างเช่น คู่แข่งขันขับรถปล่อยมือ  เราก็แซงได้สบาย เราต้องดูเป็นกรณีไปด้วย”

และในปี 2536 มีคู่แข่งรายใหม่เข้ามาตลาดเคเบิลทีวี อย่างยูทีวี  บริษัทในเครือเทเลคอมเอเชีย ที่ได้รับสัมปทานจาก อสมท.เช่นเดียวกัน  เมื่อเกิดวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย ในปี  2540 ไอบีซีตัดสินใจควบรวมกิจการกับยูทีวี ต่อมาไอบีซีซื้อกิจการยูทีวี  และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ยูไนเต็ด บรอดคาสติง คอร์ปอเรชัน จำกัด หรือ ยูบีซี  ไม่นาน ดร.ทักษิณ ขายหุ้นยูบีซีทั้งหมดให้กับเครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัทแม่ของเทเลคอมเอเชีย  จนกลายเป็นทรู วิชันส์ในปัจจุบัน 

ในสหรัฐอเมริกา  การนำเสนอรายการทีวีมีความหลากหลายสูงมาก  ต่างช่องต่างมีความเป็นอิสระในการนำเสนอข่าวสารและเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ชม  หลายครั้งที่ ดร.ทักษิณ ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการศึกษาในต่างประเทศ และการเดินทางรอบโลกเพื่อค้นหาสิ่งใหม่ๆ  กลับมาให้คนไทยได้มีความรู้ระดับโลก เขาคือผู้บุกเบิก คือผู้เปิดโลกใหม่ในการเรียนรู้ให้กับคนไทยทุกคน