ดร.ทักษิณ ไม่เพียงแก้ปัญหาภายในประเทศ ด้วยการทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาทะยานอีกครั้ง แต่ในฐานะนายกรัฐมนตรี เขายังเดินหน้าปฏิรูประบบราชการ และปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานครั้งใหญ่ของกระทรวงการต่างประเทศ นักการทูตไทยซึ่งประจำการอยู่ทั่วโลก ต่างต้องทำหน้าที่เป็นผู้แทนในการเจรจาการค้าเพื่อประชาชนให้มากขึ้น “การทูตเชิงรุก-การทูตเพื่อเศรษฐกิจ” จึงเกิดขึ้นในรัฐบาลนี้
ดร.ทักษิณกล่าวสุนทรพจน์ หัวข้อ “การทูตเชิงรุก : ยุคใหม่ของนโยบายการต่างประเทศของไทย” (Forward Engagement : The New Era of Thailand’s Foreign Policy) ในโอกาสเปิดสถาบันการต่างประเทศสราญรมย์ กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2546 โดยเน้นย้ำถึงบทบาทของนักการทูตยุคใหม่ไว้ว่า
“ผมตั้งใจแล้วว่า ภารกิจหลักในการเป็นนายกรัฐมนตรีของผม คือการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศไทยดีขึ้นและให้เกิดประโยชน์แก่คนไทยทั้งมิติของในประเทศและต่างประเทศ ภารกิจของผมคือการทำให้คนไทยอยู่ดีกินดีและทำให้ประเทศมีความสงบสุขมั่นคง ภารกิจนี้จะเป็นจริงได้ ก็ขึ้นอยู่กับผลสำเร็จของนโยบายในประเทศและการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เหมาะสม”
“เราต้องการนโยบายการต่างประเทศที่รวมเอาความแตกต่าง ควบคู่กับการเปลี่ยนความหลากหลายให้เป็นความร่วมมือที่เสาะแสวงหาสันติภาพ ความมั่นคง และความมั่งคั่งเพื่อประเทศชาติ ภูมิภาค และโลกโดยรวม สิ่งนี้คือสิ่งที่เรียกว่า นโยบายการทูตเชิงรุก”
“การทูตทักษิณ” จึงเป็นยุคสมัยแห่งการเชี่อมความสัมพันธ์เพื่อให้เกิดการพัฒนาความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในทุกระดับ โดยมีเป้าหมายคือเจาะตลาดการค้าให้ได้ นั่นทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ในโลกที่ใช้เวทีองค์การการค้าโลก (World Trade Organization – WTO) เปิดฉากเจรจาการค้าแบบทวิภาคี (ตัวต่อตัว) กับประเทศใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา, จีน, ญี่ปุ่น และอินเดีย จนสำเร็จอย่างรวดเร็ว นำมาซึ่งความเป็นผู้นำและความได้เปรียบในการเจรจาการค้ากับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค การทูตในยุคสมัยใหม่ นำไปสู่ข้อตกลงระดับทวิภาคี ระดับภูมิภาค และระดับพหุภาคี เป็นจำนวนมากจนได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูงจากประเทศเพื่อนบ้าน
ดร.ทักษิณ ยังได้รับการยอมรับในฐานะผู้นำประเทศคนสำคัญในเอเชีย ที่มีบทบาทในการสร้าง “ทศวรรษแห่งเอเชีย” ผ่านการริเริ่มและชักชวนผู้นำประเทศในทวีปเอเชีย สร้างเวทีหารือระดับนโยบายระหว่างประเทศในเอเชีย ในชื่อ “กรอบความร่วมมือเอเชีย” หรือ Asia Cooperation Dialogue (ACD) ในปี 2546
“ผมเลยเริ่มต้นคุยกับประเทศใหญ่สุดคือจีน พอจีนเริ่มให้ความสนใจ ผมก็คุยกับญี่ปุ่น ญี่ปุ่นก็สนใจ ผมจึงรีบมาคุยกับอาเซียน อาเซียนให้การสนับสนุนเต็มที่ ผมรออยู่พักใหญ่จีนกับญี่ปุ่นยังไม่ตัดสินใจเต็มที่ ผมก็เลยไปอินเดีย นายกรัฐมนตรี อตัล เพหารี วัชปายี ในขณะนั้นก็ตกลงทันที ผมก็รีบมาประชุม Bo’ao Forum ที่ไหหลำ แล้วมาพบกับนายกฯ จู หรงจี้ ของจีน นายกฯโคะอิซุมิของญี่ปุ่นก็นั่งอยู่ด้วยกัน ผมบอกไปเลยว่า อาเซียนและอินเดียตกลงใจแล้ว นายกฯ จู หรงจี้ และนายกฯโคะอิซุมิก็บอกผมพร้อมกันเดี๋ยวนั้นว่า จีนและญี่ปุ่นตกลง แค่นี้ผมก็ได้ประเทศหลักๆแล้ว ต่อมาเกาหลีก็ตกลง จีนบอกผมเพราะรู้ว่าอินเดียเข้ามาแล้ว ก็ให้เชิญปากีสถานด้วย ผมก็เลยไปเชิญ ซึ่งเขาก็ตอบรับทันที ต่อมาจึงขยายมาชวนประเทศที่มีนายกฯ เป็นเพื่อนกันแถวเอเชียกลางและเอเชียตะวันตก เช่น บาห์เรน การ์ตา และทาจิกิสถาน ก็ถือว่าเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่เรามีความริเริ่มและเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ”
การประชุม ACD เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกที่ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 18-19 มิถุนายน พ.ศ.2545 โดยประเทศสมาชิกเข้าร่วม ประกอบด้วย บาห์เรน บังกลาเทศ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ลาว มาเลเชีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ กาตาร์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย ปัจุจบันการประชุมกรอบความร่วมมือเอเชียมีจำนวนสมาชิกกว่า 32 ประเทศ
ดร.ทักษิณ ในฐานะผู้ริเริ่มก่อตั้ง ACD ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ ในการเปิดประชุมกรอบความร่วมมือเอเชียครั้งแรกในปี 2545 ว่า “เวทีนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นบทใหม่และหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์โลก และเป็นรากฐานสำหรับกรอบความร่วมมือใหม่สำหรับประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของโลก เพื่อให้แต่ละประเทศของเอเชียเป็นตลาดที่เข้มแข็งสำหรับการค้าภายในเอเชียและการค้าโลก และเพื่อทำให้ความยากจนในเอเชียไม่เป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการพัฒนาอีกต่อไป”
ไม่เพียงริเริ่มเวทีหารือในระดับภูมิภาค แต่ให้หลังจากการประชุมครั้งนั้นเพียงหนึ่งปี ในคราวการประชุม ACD ครั้งที่ 2 ที่จังหวัดเชียงใหม่ในปี 2546 ดร.ทักษิณยังเสนอแนวคิดการรวมแหล่งเงินทุนในกลุ่มประเทศเอเชียเข้าด้วยกัน โดยเรียกว่า “พันธบัตรเอเชีย” หรือ Asian Bond พันธบัตรเอเชีย เกิดจากแนวคิดที่ว่า หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ทวีปเอเชียมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศรวมกันแล้วกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกินครึ่งหนึ่งของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของทั้งโลกรวมกัน แต่กระนั้นก็ยังนำไปสู่การประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน
“เราไม่ได้นำเงินสำรองมาใช้เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับประชากร เราไม่มีวิธีการที่จะนำเงินทุนที่เรามีอยู่แล้วมาสร้างให้เกิดความมั่งคั่งเพียงพอสำหรับตัวเอง เงินทุนสำรองของเรานำไปฝากไว้เป็นพันธบัตรกับตะวันตก ก็จะไปสร้างความมั่งคั่งให้กับโลกตะวันตก โดยไม่มีส่วนทำให้เกิดความมั่งคั่งในโลกตะวันออก”
ขณะที่ศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลกก็กำลังย้ายเข้ามาอยู่ที่เอเชีย ดังนั้นการเจรจาเพื่อทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันเองในเอเชียจึงจำเป็นต้องเกิดขึ้น การค้าระหว่างประเทศในเอเชียโดยไม่พึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐก็ควรจะสามารถเกิดขึ้นได้ด้วยเช่นกัน
พันธบัตรเอเชีย จึงเป็นการนำเงินทุนในกลุ่มประเทศเอเชียมาอำนวยความสะดวกให้กับการค้าและการลงทุนในภูมิภาค ทำให้เกิดความมั่งคั่งในภูมิภาคแทนที่จะนำเงินไปฝาก และใช้เป็นเงินทุนภายนอกภูมิภาค
การจัดตั้งกองทุนพันธบัตรเอเชีย เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2546 ธนาคารกลาง 11 ประเทศในเอเชียได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะมีส่วนร่วมในการสร้างตลาดพันธบัตรเอเชีย มีเงินลงทุนแรกเริ่ม 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะเป็นเงินของทวีปเอเชีย เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับทวีปเอเชีย และจะช่วยสนับสนุนให้ตลาดการเงินของโลกมีเสถียรภาพและสมดุลมากขึ้น
จาก ACD ถึง Asian Bond ทำให้เกิดการขยายตลาดทางการเงินและค้าภายใน เพิ่มอำนาจต่อรองของประเทศในเอเชียแทนที่จะแข่งขันกันเอง อีกทั้งยังพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของเอเชียในตลาดโลก การทูตเชิงรุก-การทูตเพื่อเศรษฐกิจสะท้อนความเป็นผู้นำของไทยในเวทีโลก ไปพร้อมๆกับที่สะท้อนภาพของ ดร.ทักษิณ ในฐานะผู้นำคนสำคัญของเอเชีย การทูตฉบับทักษิณ สะท้อนบุคลิกส่วนตัวของ ดร.ทักษิณ อยู่ไม่น้อย
“ประเทศไทยเป็นเพียงประเทศเล็กๆ ประเทศหนึ่ง แต่เหตุที่เรามีความกล้าหาญเพียงพอที่จะริเริ่มแนวคิดที่มีความสำคัญยิ่งนี้ ก็เพียงเพราะความคิดริเริ่มนี้มาจากหัวใจเราโดยตรง เป็นความริเริ่มที่เกิดจากการที่ผมตระหนักว่าเอเชียในครั้งหนึ่งเคยเป็นทวีปที่มั่งคั่ง และจากความจริงที่ว่าทวีปในวันนี้ได้เริ่มล้าหลังภูมิภาคอื่นๆ ทั้งที่เรามีศักยภาพอยู่มากมาย ผมเชื่อมั่นเหลือเกินว่าอยู่ในวิสัยและกำลังของเราเพื่อผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน เราอาจจะประสบผลสำเร็จ หรือเราอาจจะประสบความล้มเหลว แต่อย่างน้อยที่สุดเราก็ได้ทดลองทำแล้ว”