ในช่วงปี 2537 ดร.ทักษิณ ได้เข้าสู่การเมืองด้วยตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังธรรม ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ถูกเทียบเชิญจากผู้หลักผู้ใหญ่ทางการเมืองให้รับหน้าที่นี้ หลังจากที่เขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนักการเมืองไทยหลายคน แม้ก่อนหน้านั้น คนไทยรู้จักเขาในนามของนักธุรกิจ-นักบริหารด้านการสื่อสารที่ประสบความสำเร็จ เป็น 1 ใน 12 นักธุรกิจผู้นำของเอเชีย จนได้รับยกย่องจากหนังสือพิมพ์ Singapore Business Times และยังได้รับการยกย่องเป็น Asian CEO of the Year จาก นิตยสาร Financial World ความโดดเด่นในด้านการบริหารของเขา ทำให้ได้รับการขนานนามจากนักเขียนรุ่นใหม่ว่าเป็นนักธุรกิจในคลื่นลูกที่ 3
ในตอนนั้น คลื่นความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม มีวัฒนาการ 3 ขั้น ถูกขับเคลื่อนด้วยบางสิ่งบางอย่างที่แตกต่างกันออกไป โดยถูก ‘พลวัตร’ เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ก้าวหน้า โดย
คลื่นลูกที่ 1 สังคมเกษตรกรรม
คลื่นลูกที่ 2 สังคมอุตสาหกรรม
คลื่นลูกที่ 3 สังคมข้อมูลข่าวสาร
เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว “หนุ่มเมืองจันทร์” หรือ “สรกล อดุลยานนท์” นักเขียนชื่อดังและอดีตบรรณาธิการข่าวเศรษฐกิจ ได้เขียนหนังสือ “ทักษิณ ชินวัตร อัศวิน คลื่นลูกที่ 3” เพื่อเจาะลึกเส้นทางของความสำเร็จของ ดร.ทักษิณ เพื่อทำความรู้จักและเปิดเผยแนวคิดของเขา ที่เป็นหนึ่งในผู้สร้างสังคมใหม่ นำประเทศไทยสู่ความทันสมัยและความเจริญรุ่งเรือง เพราะสิ่งที่คิดและธุรกิจที่ทำ ทำให้เขาได้กลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลแห่งวงการโทรคมนาคม กลายเป็นบทพิสูจน์ฝีมือการเป็นนักบริหารที่ประสบความสำเร็จ และมีคนมองเห็นความสามารถ ให้นำมาปรับใช้กับการบริหารพรรคการเมืองได้ โดยหนุ่มเมืองจันทร์ ได้อธิบายปัจจัยที่ทำให้ ดร.ทักษิณประสบความสำเร็จทางธุรกิจว่า
ประการที่ 1 กล้าตัดสินใจอย่างรวดเร็ว กล้าทดลองลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ กล้าปรับทิศทางธุรกิจในเครือจากการค้าคอมพิวเตอร์มาเป็นธุรกิจโทรคมนาคมได้ในจังหวะที่เหมาะสม
ประการที่ 2 เป็นนักเจรจา ประกอบกับความกว้างขวางในการสร้างพันธมิตร บริหารสายสัมพันธ์ จนสามารถประสานได้กับทุกฝ่ายอย่างลงตัว
ประการที่ 3 วิสัยทัศน์ที่มองไปข้างหน้า ประเมินสถานการณ์ได้ถูกต้อง ไปพร้อมกับการกำหนดกลยุทธ์ได้ตรงกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ทำให้ช่วงเวลาเกือบ 10 ปี หลังลาออกจากกรมตำรวจมาสู่เส้นทางของธุรกิจ ดร.ทักษิณประสบความสำเร็จจนได้รับการยอมรับจากทั้งในและต่างประเทศ
ทุกย่างก้าวของวินาที จากวันนั้นจนถึงวันนี้เวลาที่ล่วงเลยไปแต่ละวัน โลกของเราได้เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา มนุษยชาตินั้นเก่งพอที่จะอยู่กับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ แต่ใครที่จะอยู่ “ได้ดี” นั้น ดร.ทักษิณ มองว่า ต้องเป็นคนที่มีพลังความรู้เป็นพื้นฐาน หรือ Knowledge Base Society
เขามองว่าที่ผ่านมา ประเทศไทยยังปรับตัวรองรับในเชิงของการสร้างสรรค์ไม่เพียงพอ สังคมไทยอยู่ในภาวะของความสะดวกสบาย พ่อแม่ตั้งหน้าตั้งตาทำงานจนไม่มีเวลาให้ครอบครัว และติดกับการให้ ทั้งเงินและเครื่องอำนวยความสะดวก จนลืมว่าอาจจะส่งผลกระทบตามมาในหลายด้าน
“เราต้องเตรียมตัวกับชีวิตของโลกใหม่ ซึ่งวันนี้กำลังเป็นสังคมที่อาศัยฐานความรู้เป็นหลัก หรือเราเรียกว่า Knowledge Base Society โลกยังต้องเปลี่ยนไปอีกมาก พลังสมองจึงเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ”
ดร.ทักษิณ มองว่า ความรู้มี 2 แบบ แบบแรกคือความรู้ที่เป็นการเรียนอย่างเป็นทางการ และอีกแบบคือความรู้ที่เกิดจากความรอบรู้ หากทั้ง 2 อย่างผสมผสานกันได้ จะเป็นสิ่งที่ดี ความรู้ทั้ง 2 แบบสามารถค้นหาได้ในอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์มหาศาลอยู่ในนั้น แต่ความรู้และความรอบรู้คงไม่เพียงพอที่จะนำไปใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่อีกต่อไป ต้องเป็นความรู้ที่มีพลังด้วย
“Knowledge ที่เป็น Power นั้นประกอบไปด้วย Information กับความสามารถในการวิเคราะห์ และนำข้อมูลนั้นมาใช้อย่างถูกต้อง เพราะฉะนั้น Knowledge จึงเป็น Power ที่แท้จริง’
เมื่อเข้าสู่การเมืองเต็มตัว จากพรรคพลังธรรมสู่การตั้งพรรคการเมืองของตัวเองในนาม “พรรคไทยรักไทย” เขายอมรับว่าการที่มีตนเป็นผู้นำของพรรคเพียงคนเดียวคงไม่เพียงพอ ต้องสรรหาผู้ที่มีความรู้มาร่วมมือช่วยกันในการบริหารประเทศ ซึ่งหมายความว่า เก่งคนเดียวไม่พอ จะต้องแวดล้อมไปด้วยคนเก่งด้วย ความรู้ที่มีนั้นจึงจะถูกร่วมกันผลักดัน ออกมาให้ใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด
“หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้ง ผมควานหาคนที่เก่งที่สุดของแต่ละวงการมา เพราะประเทศไทยเรากำลังต้องการคนเก่งมาแก้ปัญหาประเทศ ตอนนี้เราอยู่ในโลกสงครามหาคนเก่ง เขาเรียก The War For Talent สงครามล่าหาปัญญาที่ดี ซึ่งปัญญาที่ดีไม่จำเป็นต้องคิดเลขเก่ง สะท้อนออกมาอย่างไรก็ได้”
เพราะประเทศไทยมีระบบเศรษฐกิจแบบเปิด ที่ผนวกเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับเศรษฐกิจโลก เมื่อเกิดภาวะใดขึ้นมา จะได้รับผลกระทบ เขามองว่าประเทศไทยต้องปรับตัวให้มีความพร้อมทั้งเชิงรับและรุก เข้าสู่การพัฒนาที่เน้นการแข่งขันบนฐานความรู้ที่รอบด้านมากพอในเวลาเดียวกัน เป้าหมายไม่ใช่ใคร ก็เพื่อให้ประเทศไทยอยู่รอดได้ ท่ามกลางภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างทุกวันนี้