สนามบินสุวรรณภูมิ ความสำเร็จของทักษิณจากนายกทุกคนในครึ่งศตวรรษ - Thaksin Official


ภาพถ่าย ดร. ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี พ.ศ. 2544

ประเทศไทยมีสนามบินดอนเมืองเป็นสนามบินพาณิชย์เพื่อการเดินทางภายในและระหว่างประเทศมานาน แต่ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ทำให้ดอนเมืองเป็นสนามบินที่การบินพลเรือนกับการบินทหารปะปนกัน ยิ่งกว่านั้นคือพื้นที่ซึ่งอยู่ในเขตกองทัพทำให้ดอนเมืองเป็นสนามบินที่ขยายไม่ได้เลย

รัฐบาลไทยในอดีตว่าจ้างบริษัทต่างชาติศึกษาแนวคิดสนามบินพาณิชย์แห่งที่สองมานาน ผลศึกษาของที่ปรึกษาและองค์การบริหารการบินพลเรือนแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (FAA) เห็นว่าเราควรมีสนามบินพาณิชย์ที่แยกจากดอนเมืองตั้งแต่ปี 2503 และ 2513 แต่การดำเนินการแทบไม่คืบหน้าเลย

แม้การเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างสนามบินใหม่จะเสร็จสิ้นตั้งแต่ปี 2516 แต่รัฐบาลทุกชุดหลังจากนั้นกลับได้เพียงเวนคืนที่ดิน, มอบหมายให้การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ และอนุมัติงบประมาณรวมทั้งมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยให้การท่าฯ ดำเนินการได้เท่านั้นเอง

ทันทีที่พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งจนเป็นแกนนำรัฐบาลปี 2544 ดร.ทักษิณ ได้เร่งรัดโครงการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ที่ล่าช้ามาแล้วเกือบครึ่งศตวรรษ จากนั้นการก่อสร้างจริงๆ จึงเริ่มขึ้นในปี 2545 และเสร็จสิ้นในปี 2549 หรือเริ่มต้นและเสร็จสิ้นในเวลาที่ ดร.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี  

ขณะที่รัฐบาลในอดีตคิดถึงสนามบินในฐานะ “ด่านแรก” ในการต้อนรับแขกชาวต่างประเทศจนสนามบินเป็นเพียง “ชุมทาง” ของการเดินทางทางอากาศทั้งภายในและระหว่างประเทศ  ดร.ทักษิณ มองเห็นว่าสนามบินเป็นส่วนหนึ่งของแผนการทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางของการบินในภูมิภาคขึ้นมา

ในวิสัยทัศน์ของ ดร.ทักษิณ สนามบินไม่ได้เป็นแค่สถานีขนส่งหมอชิตของการเดินทางทางอากาศ  สนามบินสัมพันธ์กับอุตสาหกรรมการบิน  และเพื่อที่จะทำให้อุตสาหกรรมการบินเติบโต การสร้างสนามบินที่มีความสามารถรองรับการบินและผู้โดยสารเหนือกว่าสนามบินอื่นจึงเป็นเรื่องจำเป็น

ภายใต้รัฐบาล ดร.ทักษิณ สนามบินพาณิชย์ซึ่งมีชื่อพระราชทานว่า  “สนามบินสุวรรณภูมิ” ต้องเป็นสนามบินที่สมรรถนะสูงกว่าสนามบินประเทศเพื่อนบ้าน หอควบคุมการบินจึงถูกออกแบบให้มีความสูงถึง 132.2 เมตร ซึ่งสูงเป็นอันดับ 1 ของโลกในตอนนั้น ส่วนอาคารผู้โดยสารเดี่ยวก็มีพื้นที่ถึง 563,000  ตร.ม. หรือใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกเลยทีเดียว

ตามแผนที่กำหนดไว้  สนามบินสุวรรณภูมิเชื่อมโยงการทำงานทั้งหมดด้วยระบบ AIM (Airport Information Management System) มีศักยภาพรองรับผู้โดยสารได้ถึง 45 ล้านคนต่อปี  รองรับเที่ยวบินได้มากกว่า 76 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ขนถ่ายสินค้าทางอากาศได้ปีละ 3 ล้านตัน และสามารถขยายได้ถึง 6 ล้านตันต่อปี

ด้วยการออกแบบและการวางโครงสร้างพื้นฐานไว้อย่างดี สนามบินสุวรรณภูมิซึ่งก่อสร้างเสร็จจนทำการบินอย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2549 กลายเป็นหนึ่งในสนามบินที่มีผู้โดยสารมากเป็นอันดับต้นของโลก หรืออีกนัยหนึ่งคือมีสายการบินใช้บริการมากเป็นแถวหน้าด้วยเช่นกัน

เมื่อถึง พ.ศ.2559 สนามบินสุวรรณภูมิมีผู้โดยสารใช้บริการสูงเป็นอันดับ 20 ของโลก และเมื่อสนามบินเปิดบริการได้ 11 ปี เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2560 สนามบินมีเที่ยวบินขึ้นลงเฉลี่ยวันละ 956 เที่ยวบิน มีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 166,000 คน และมีสายการบินให้บริการจำนวน 140 สายการบิน

นับตั้งแต่เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ สนามบินสุวรรณภูมิทำหน้าที่เป็นด่านแรกในการต้อนรับแขกชาวต่างประเทศและผู้มาเยือนได้อย่างภาคภูมิ แต่นอกเหนือจากการเป็น “ชุมทาง” สำหรับการเดินทางแล้ว ดร.ทักษิณ ยังคิดถึงสนามบินในฐานะกลไกการพัฒนาประเทศด้วยเช่นกัน

ในวันที่ 29 กันยายน 2548 ขณะที่ ดร.ทักษิณ นำคณะรัฐมนตรีและแขกผู้มีเกียรติขึ้นเที่ยวบินปฐมฤกษ์ด้วยแอร์บัส  TG8960 ชื่อ “วัฒนานคร” และโบอิ้ง TG8962 ชื่อ “หริภุญไชย” จากสนามบินดอนเมืองไปสนามบินสุวรรณภูมินั้น  ดร.ทักษิณได้แสดงวิสัยทัศน์เรื่องสนามบินเอาไว้ว่า

“ผมเชื่อเหลือเกินว่าคนที่ลงเครื่องบินแล้วมาประเทศไทยเป็นครั้งแรก เมื่อเห็นสนามบินแห่งนี้  จะมีความรู้สึกที่ดีต่อประเทศไทย  เรามีอาคารผู้โดยสารอาคารเดียวที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีหอบังคับการบินที่สูงที่สุดในโลก วัสดุที่ใช้ส่วนใหญ่ผลิตในประเทศ และการก่อสร้างส่วนใหญ่ใช้วิศวกรไทย

“ผมเชื่อว่าเราจะเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคได้ เพราะว่าบรรพบุรุษเราได้เลือกสุวรรณภูมิแห่งนี้ ก็คือที่ตั้งประเทศไทยนี้ เป็นแผ่นดินทองนี้ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า “สุวรรณภูมิ” เพราะเรากำลังจะทำให้แผ่นดินทองของบรรพบุรุษของเรานั้นเป็นแผ่นดินทองจริงๆ” (**5)

ในเวลานั้นคำว่าการพัฒนาประเทศโดยยกระดับโครงข่ายการขนส่งสินค้าและบริการ (Logistics) ยังไม่ใช่เรื่องที่คนทั่วไปพูดกัน แต่ภายใต้วิสัยทัศน์ของ ดร.ทักษิณ ซึ่งเป็นนายกคนแรกที่อำนวยการก่อสร้างสนามบินจนสำเร็จ สนามบินแห่งนี้คือส่วนหนึ่งของการพัฒนา Logistics ไทยอย่างสมบูรณ์

อ้างอิง

**1 – PPTV HD 36 : ข่าว “ครบ 11 ปี “สนามบินสุวรรณภูมิ” ยอดผู้โดยสารแตะ 59 ล้านคน” https://bit.ly/2s5EL3V 

**2 – หนังสือพิมพ์เดลินิวส์  ฉบับวันที่ 28 กันยายน 2548 หน้าที่ 4

**3 – หนังสือพิมพ์มติชน  ฉบับวันที่ 30 กันยายน 2548 หน้าที่ 20

**4 – หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 30 กันยายน 2548 หน้าที่ 20

**5 – หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 30 กันยายน 2548 หน้าที่ 2

**6 – หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 27 กันยายน 2548 หน้าที่ A3