แม้โทรศัพท์มือถือเป็นทางเลือกของการอ่านในยุคนี้ แต่สำหรับ ดร.ทักษิณ แล้ว การอ่านหนังสือคือกิจกรรมสุดโปรดที่เขาสามารถใช้เวลาอยู่กับมันได้ทั้งวันไม่มีเบื่อ
“หนังสือที่เราอ่านสามารถสะท้อนความตัวตนของผู้อ่านได้ดี” เป็นวลีที่ยังใช้ได้กับทุกคนเสมอ เช่นเดียวกับ ดร.ทักษิณ ตัวตนของเขาในอดีตจนมาถึงปัจจุบัน ยังมองการอ่านเป็นเรื่องที่สำคัญและกลายเป็นกิจวัตรประจำวันที่เป็นเรื่องปกติสำหรับเขาไปแล้ว
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2545 หลังจากที่ ดร.ทักษิณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เกือบทุกครั้งที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรีในช่วงเช้า ก่อนที่จะมีการประชุมตามวาระปกติ เขาจะแนะนำหนังสือหลายเล่มให้คณะรัฐมนตรีอ่าน เพื่อเป็นการเปิดโลก เปิดสมองรับสิ่งใหม่ให้กับทีมงานของเขาที่ได้ทำงานร่วมกัน ได้พูดในเรื่องเดียวกัน เข้าใจกัน และมีแนวคิดไปในทางเดียวกันได้ ซึ่งหนังสือที่เขาแนะนำให้คณะรัฐมนตรีและคนรอบตัวอ่าน สะท้อนทั้งตัวตนของเขา และยังเปิดมุมมองการทำงานของคณะรัฐมนตรีให้กว้างขึ้นกว่าเอกสารในแฟ้มเล่มหนาที่วางอยู่ตรงหน้า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 กันยายน ปี 2545 เขาได้แนะนำหนังสือเรื่อง “As The Future Catches You เมื่ออนาคตไล่ล่าคุณ” เขียนโดย ฮวน เอ็นริเก้ หนังสือเล่มนี้สร้างความฮือฮาให้กับนักอ่านเป็นอย่างมาก จนสำนักพิมพ์ในประเทศไทยต้องนำมาแปลออกวางจำหน่าย
เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับการพัฒนาที่มุ่งไปสู่อนาคตที่รวดเร็ว ชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการของเทคโนโลยี 3 อย่างที่ครอบงำโลกอยู่และหลายคนไม่รู้ตัว คือ ดิจิทัล เทคโนโลยี, จีโนมมิกส์ และนาโน เทคโนโลยี เทคโนโลยีทั้งสามมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของการดำรงอยู่ของมนุษย์ในทศวรรษนั้น รวมถึงส่งผลต่อธุรกิจต่าง ๆ ดังนั้นปัจจัยที่จะมีผลต่อความมั่นคงและมั่งคั่งของประเทศจึงมีมากกว่าเรื่องการศึกษา , ประชาธิปไตย , ความสามารถในการแข่งขัน และการเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจให้ผู้คน แต่ยังประกอบไปด้วยเทคโนโลยีอีกด้วย
การแนะนำหนังสือเล่มนั้นในตอนนั้นสร้างข้อสงสัยให้กับผู้เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นอย่างมาก เพราะในขณะนั้นปัญหาของประเทศที่มีอยู่ยังต้องแก้ไขมีหลายประเด็น ขณะที่การพัฒนาตัวเอง การพัฒนาการทำงานกับคนรอบข้าง และการพัฒนาประเทศนั้นยังต้องทำควบคู่กันไปด้วย เพราะมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
“ผมมองว่าเราไม่ควรหยุดอยู่แค่วันนี้ ปัจจุบันและอดีตสำคัญมาก แต่ที่สำคัญกว่าคืออนาคต เราจะอยู่อย่างไรหากอนาคตมาอยู่ตรงหน้าแล้วคุณถอยหลังไม่ก้าวเข้าไปชนกับมัน เราทำได้ แค่เราเตรียมพร้อม”
นอกจากนี้เขายังได้แนะนำหนังสือ “Execution : The Discipline of Getting Things Done” โดย แลรี่ แบสซิดี้ และแรม ชารัน ให้กับที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้อ่านอีกครั้งเพื่อให้ทุกคนได้รู้ว่า การอ่านหนังสือเหล่านี้ แม้จะเป็นหนังสือทางธุรกิจ ก็นำมาประยุกต์ใช้กับการทำงาน เป็นการนำเอาสิ่งที่คิดไปปฏิบัติให้เป็นความจริง
“เป็นหน้าที่ของ CEO ส่วนราชการ นำแนวทางของหนังสือที่อ่านแต่ละเล่ม วางเป้าหมายและทำทุกอย่างให้ถึงเป้าหมาย ทำงานให้สำเร็จ ถือเป็นหัวใจของการทำงานที่แท้จริง”
ในวันคล้ายวันเกิดของเขา ปี 2546 วันที่ผู้คนทั่วประเทศร่วมแสดงความยินดีกับนายกฯคนนี้ แต่เขายังไม่ลืมที่จะแนะนำหนังสือน่าอ่านให้กับคนที่มาร่วมงานวันคล้ายวันเกิดในวันนั้นได้อ่าน รวม 4 เล่มด้วยกัน ทั้ง “Rethinking the Future” หนังสือที่รวบรวมแนวคิดของกูรูดังของโลกอย่างไมเคิล พอร์เตอร์, ฟิลิป คอตเลอร์ , “Future of Asia อนาคตของเอเชีย” , “ทักษิณ ชินวัตร จากคนตัวใหญ่สู่ใจดวงน้อย” หนังสือที่เขียนขึ้นจากประสบการณ์ตรงในวัยเด็กและวิสัยทัศน์ของ ดร.ทักษิณ ทั้งเรื่องการศึกษา ครอบครัว และมุมมองต่อเยาวชน รวมถึงการตอบคำถามเด็ก ๆ ในชื่อ “คุณลุงทักษิณ ไขปัญหา”
“ให้อ่านให้ครบ เพื่อปรับกระบวนความคิดให้ทันกระแสโลก โดยต้องอ่าน Rethinking the Future เป็นเล่มแรก เพราะคำว่า Rethinking เป็นที่มาของสโลแกนพรรคที่ว่า “คิดใหม่ ทำใหม่” โดยหนังสือเล่มนี้จะช่วยปรับกระบวนทัศน์ทางความคิดทุกมิติ เพื่อให้เข้าใจว่า โลกเปลี่ยน กระบวนทัศน์ทางความคิดก็ต้องเปลี่ยนไป หนังสือเล่มนี้จะทำให้รู้ว่า เรื่องใดที่คิดเก่าก็ต้องคิดใหม่ แต่ถ้ายังกระแทกความคิดไม่ได้ ต้องเอาเล่มที่สองคือ As the Future Catches you”
หนังสือที่ ดร.ทักษิณ แนะนำให้ทุกคนอ่านยังมีอีกหลายเล่มเพื่อใช้ในการพัฒนาตัวเอง มีทั้ง “The Mystery of Capital” โดย เฮอร์นันโด เดอ โซโต อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่มีเนื้อหาที่มีอิทธิพลต่อนโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุน
“Lateral Thinking” โดย เดอ โบโน เนื้อที่เกี่ยวกับการคิดออกนอกกรอบ ไม่ยึดติดกับกรอบจนกลายเป็นอุปสรรคการทำงาน
“Business@The Speed of Thougth” โดยบิล เกตส์ ที่ช่วยฝึกการเลือกใช้ข้อมูล การกระตุ้นให้ทุกฝ่ายตระหนักให้สร้างความสามารถเชิงการแข่งขัน “The New Leaders” โดยแดเนียล โกลแมน ผู้เขียนที่ทำให้โลกรู้จักคำว่าอีคิว และในระหว่างที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ช่วงกลางปี 2546 ดร.ทักษิณ แนะนำหนังสือน่าอ่านอย่าง “What the Best CEOs Know : 7 Exceptional Leaders and Their Lessons for Transforming any Business” เขียนโดย เจฟฟรี เอ แครมส์ ในวาระการประชุมเรื่องผู้ว่าฯ ซีอีโอ ซึ่งถือว่า ดร.ทักษิณ เป็นคนแรกในประเทศ ที่แนะนำคำว่า Transform ให้คนไทยได้รู้จัก เมื่อ 15 ปีมาแล้ว จากหนังสือเล่มนี้ และสิ่งที่เขาชื่นชอบและศึกษามาโดยตลอดคือเรื่องราวเกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยี ซึ่งแน่นอนว่าเขาไม่พลาดที่จะอ่านและแนะนำหนังสือเรื่อง “Nano Custom” หนังสือที่มีเนื้อหาว่าด้วยเรื่องที่เกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยี ให้คณะรัฐมนตรีได้อ่าน
“Nano Custom เป็นเรื่องที่น่าติดตาม เพราะถือเป็นสิ่งอำนวยประโยชน์มหาศาลให้มนุษย์ เพราะช่วยย่อยข้อมูลจากห้องสมุดใหญ่ ๆ มาอยู่ในพื้นที่ 1 ตารางเซนติเมตร เป็นเทคโนโลยีระดับสูงที่ควรศึกษา”
13 สิงหาคม 2546 ดร.ทักษิณ แนะนำหนังสือ “ IT Alive” โดยคริสโตเฟอร์ เมเยอร์ หนังสือที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งหมายถึงการทำนายอนาคตของเทคโนโลยีในปี 2556 เนื้อหาเกี่ยวกับการบริหารเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ทุกอย่างเปรียบเสมือนสิ่งมีชีวิต ดังนั้นต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่ทันสมัย เขาไม่ได้อ่านเฉพาะหนังสือที่มีเนื้อหาล้ำยุคหรือหนังสือเกี่ยวกับการพัฒนาตัวเองเท่านั้น ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2546 หนังสือ “พุทธทาสทางการเมือง” คืออีกเล่มที่เขาแนะนำ โดยหนังสือเล่มนี้ เขาเป็นคนเขียนเองเมื่อครั้งที่ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย
“ได้ศึกษาธรรมะจากหนังสือของท่านพุทธทาสแล้วเห็นว่า เป็นหลักปรัชญาชั้นสูง จะทำความเข้าใจได้ยาก แต่ถ้าเข้าใจแล้วนำมาปฏิบัติจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิต เปลี่ยนแปลงการดำรงชีวิตได้เป็นอย่างมาก ทำให้ปล่อยวางเรื่องต่าง ๆ ได้มาก การปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีที่จะต้องเผชิญปัญหาต่าง ๆ มากมาย คงไม่ลุล่วงมาได้ถึงทุกวันนี้”
เพียงแค่ 2 ปีนับตั้งแต่เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ แนะนำหนังสือที่เกี่ยวกับการพัฒนาตัวเองในหลายแง่มุม โดยเน้นหนักในเรื่องของการเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี และการเปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ ให้ทุกคนในรัฐบาลได้คิดใหม่ ทำใหม่ ไม่ยึดติดกับกรอบเดิมๆ และให้เอาหลักคิดด้านศาสนามาปรับใช้ได้พร้อมกันอย่างชาญฉลาด
ดร.ทักษิณ เป็นคนแรกที่ทำให้คนไทยรู้จักคำว่า Transform และ Disrupt ที่จะเกิดขึ้นในอีก 20 ปีข้างหน้า นี่คือความคิดใหม่ที่ไม่เคยหยุดนิ่งของเขาที่ไม่หยุดพัฒนาตัวเองผ่านหนังสือจากทั่วโลก