ทฤษฎีพีระมิด ซ่อม สร้างประเทศ - Thaksin Official


       ดร.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 ของไทย เดินทางเยือนสาธารณรัฐอินเดียอย่างเป็นทางการ ช่วงวันที่ 26-29 พฤศจิกายน ปี 2544 ซึ่งเป็นการเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการ เพื่อกระชับความสัมพันธ์และขยายความร่วมมือระหว่างไทยและอินเดีย ตามคำเชิญของนาย อาตัน พิหารี วัชปายี นายกรัฐมนตรีของอินเดีย ในขณะนั้น    การเดินทางไปเยือนอินเดียในตอนนั้น  มีกำหนดการเยี่ยมชมองค์การค้นคว้าอวกาศของอินเดีย นิคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีซอฟต์แวร์  รวมถึงบริษัทพัฒนาซอฟแวร์และเทคโนโลยีสารสนเทศชั้นนำของอินเดีย มีการลงนามความร่วมมือด้านเทคโนโลยี  การค้าการลงทุน และด้านอื่นๆ หลายด้าน ที่สำคัญคือการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในการค้าข้าว พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ซึ่งในขณะนั้นไทยได้ร่วมมือกับเวียดนามและปากีสถาน ในเรื่องการค้าข้าวแล้ว หากอินเดียเข้าร่วมมืออีกประเทศหนึ่ง จะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องการตัดราคาขายข้าวระหว่างกันได้  เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก และเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวของประเทศ  

หนึ่งในภารกิจการเดินทางเยือนอินเดียครั้งนี้ คือการที่เขาได้พบปะหารือกับนักธุรกิจอินเดีย-ไทย พร้อมกล่าวสุนทรพจน์ในงาน ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาพันธ์อุตสาหกรรมอินเดีย ในระหว่างการเยือนอินเดีย วันที่ 27 พฤศจิกายน ปี 2544  เนื้อหาของการแสดงปาฐกถา ได้แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์และทิศทางนโยบายในการแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ที่ประเทศไทยต้องเผชิญอยู่ในขณะนั้นได้อย่างน่าสนใจ 

เขามองว่า  ประเทศไทยและอินเดีย มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเพียง 54 ปีที่ผ่านมา แต่ความสัมพันธ์ในระดับประชาชนมีมานานกว่า และความร่วมมือทวิภาคีของทั้งสองประเทศในช่วง 15 ปี มีพัฒนาการไปอย่างก้าวหน้า มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีระหว่างสองประเทศ ความร่วมมือทางด้านการค้าข้าว และเขาต้องการขยายความสัมพันธ์ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การแลกเปลี่ยนทางวิชาการ และความร่วมมือในระดับภูมิภาคเพิ่มเติมอีก เพราะประเทศอินเดียเป็นประเทศมหาอำนาจหนึ่งในเรื่องของเทคโนไลยีสารสนเทศ 

เขามองว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 เกิดจากการที่ประเทศไทยไม่เตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของโลก   ส่งผลกระทบอย่างรวดเร็วต่อประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออก การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นสร้างทั้งโอกาสและวิกฤต  ทำให้รัฐบาลไทยต้องวางยุทธศาสตร์ที่จะช่วยสร้างฐานการผลิตและตลาดภายในที่เข้มแข็ง เพื่อจัดการกับวิกฤตภายนอกไปพร้อมกับการดำเนินนโยบายทำการค้าระหว่างประเทศ  เปิดรับการเข้ามาของแหล่งทุน

“พีระมิดไม่สามารถสร้างขึ้นได้ด้วยการเริ่มต้นจากส่วนบน เพราะฉะนั้น การซ่อมแซมพีระมิด ก็ไม่สามารถจะทำจากบนลงล่างได้ จำเป็นต้องซ่อมจากส่วนล่างสู่ส่วนบน ดังนั้น ผมจึงเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ  เริ่มที่การลดช่องว่างความยากจนด้วยนโยบายพักหนี้ การจัดตั้งธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้” 

วิกฤตต้มยำกุ้งทำให้เขามองเห็นปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศและสร้างผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้าน  เขาขอให้อินเดียและไทยเพิ่มพูนความร่วมมือในระดับภูมิภาคของเอเชียให้มากขึ้น และได้เสนอให้จัดตั้งกลุ่มปรึกษาหารือเพื่อความร่วมมือในเอเชีย  เพื่อเป็นเวทีของประเทศที่มีเอกลักษณ์ของความเป็นเอเชีย โดยเฉพาะการประสานงานและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างไม่เป็นทางการร่วมกันในประเด็นปัญหาต่างๆ ของโลก เพื่อประโยชน์ในเรื่องการส่งเสริมการค้า การลงทุน และความร่วมมือในภูมิภาค  

เวทีดังกล่าวจะขยายไปถึงประเทศเพื่อนบ้านจากเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และเอเชียตะวันตก ซึ่งประเทศในเอเชียจะต้องกระตืนรือร้นมากขึ้น ทั้งภายในกลุ่มเอเชียและภายนอกกลุ่ม 

“การสร้างความเข้มแข็งภายในมีความจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีสารสนเทศที่เหมาะสมมาช่วยเสริมสร้าง ผมเชื่อว่าเทคโนโลยีสารสนเทศ จะเป็นยาต่อสู้กับสงครามกับความยากจนได้ในอนาคตอันใกล้นี้”

ทั้งหมดคือสิ่งที่เขาได้พูดไว้ 20 ปีก่อน  จนเราไม่อาจคาดคิดว่า สิ่งเหล่านั้นจะเกิดขึ้นในห้วงทศวรรษนี้  ทศวรรษที่เทคโนโลยีกลายเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งในชีวิตประจำวันของมนุษย์