Highlight
ตอบคำถามจากทางบ้านว่า ทำอย่างไรให้พัฒนาเศรษฐกิจดีขึ้นใน 1 ปี ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ทุกภาคส่วน จัดการกระจายทรัพยากรใหม่ให้ทั่วถึง และบริหารจัดการเปิดเสรีภาพแบบยุคโลกาภิวัตน์
Transcript
สวัสดีครับพี่น้องคนไทยที่เคารพครับ วันนี้ผมคงมาตอบคำถาม เพราะว่าบรรดาผู้ที่ติดตามรายการนี้ตั้งคำถามมาเยอะแยะ ก็จะแบ่งกลุ่มคำถามที่จะตอบในวันนี้ตามคำถามที่ถามมาก็ 4-5 ข้อนะครับ
อันแรกเนี่ย วันนี้ก็อาจจะยาวนิดหน่อยครับ คำถามแรกก็จะถามว่า แนวการในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าควรจะเป็นยังไงบ้าง แล้วก็มีคำถามย่อยอยู่ประมาณ 7 คำถาม ผมคงจะตอบหลักการก่อนเพราะว่ามันจะยาว เขาบอกว่าจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นใน 1 ปีได้ยังไง ก่อนอื่นเอาหลักการก่อน นะครับ
หลักการข้อที่ 1 ก็คือว่า ทรัพยากรในประเทศเราเนี่ยมันมีอะไรบ้าง บางอย่างลงทุนเยอะไป บางอย่างลงทุนน้อยไป ผมใช้คำว่า Re-Matching Resources คือเอาทรัพยากรทั้งหลายที่มีอยู่มา match กันใหม่ มาเฉลี่ยให้มันเหมาะสมว่าอันไหนที่เราลงทุนเยอะไป ไม่จำเป็น ก็เอาอันที่ลงทุนน้อยมาเติมลงอันที่มันลงทุนน้อยไป อันนี้คือสิ่งที่ผมใช้ในช่วงที่มีวิกฤตเศรษฐกิจ ตอนที่ผมมาเป็นนายกตอนปี 2544 เพราะตอนนั้นเราเห็นชัดเจนว่า บางอย่างเรามีอยู่แล้วทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นคน เป็นเงิน เป็นวัสดุ แต่ว่าไปอยู่ในบางที่ๆ เราอาจจะไม่ต้องการ แต่บางที่ๆ ต้องการไม่มี เราก็มาเฉลี่ย ตรงนี้ใช้ศิลปะในการบริหารการจัดการอย่างเดียว ไม่ต้องไปลงทุนเพิ่ม อันนี้คือสิ่งเบื้องต้นเพราะว่าเราไม่มีตังค์หนิครับ วันนั้นมาถึงตังค์ยังไม่มี ก็ต้องแก้ด้วยปัญหาตรงนี้ก่อนนะครับ ก็คือ Re-Matching Resources จริงๆ แล้วก็คือว่าเอาทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งหลายมาเฉลี่ยใช้กันให้เกิดประโยชน์สูงสุด แล้วก็เราก็จะต้องดูว่าค่าใช้จ่ายอะไรที่มันสูงไปในภาคครัวเรือน หรือในภาคของรัฐบาล เราจะแก้กันยังไงโดยการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จําเป็นออก
อันที่สองก็คือต้องมาดูว่า แล้วรายได้ที่เรามีอยู่ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นระดับครอบครัวหรือระดับประเทศมันไม่เพียงพอไหม หรือว่าจะทำให้ดีกว่านี้ได้ไหม ให้ได้มากกว่านี้ไหม ถ้าได้มากกว่านี้ก็ปรับปรุงทำให้มันได้มากขึ้น แล้วก็ดูว่าเรายังมีปัญญาที่จะหาลู่ทางการทำมาหากินในระดับครอบครัวอะไร อีกบ้าง ในระดับธุรกิจอะไรอีกบ้าง ในระดับประเทศจะทำอะไรอีกบ้าง ก็เป็นลักษณะของการที่ใช้หลักการครับ หลักการก็คือว่าพยายามจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยยังไม่ต้องลงทุนเพิ่ม อันที่ 2 ก็มาดูว่าค่าใช้จ่ายอะไรที่สูงเกินไปตัดได้ตัด ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นก็ต้องยอม ที่ไม่จำเป็นก็ต้องตัด ส่วนรายได้ที่มีอยู่ไม่พอ หรือยังประสิทธิภาพไม่ถึงก็ต้องมาปรับปรุงประสิทธิภาพแล้วก็ยังมีลู่ทางทำมาหากินอย่างอื่นก็ค่อยคิดกัน เพื่อที่จะทำให้รายได้มันกลับคืนมา อันนี้เป็นหลักการ Business turnaround นะครับ คือเป็นการที่เวลาเราทำธุรกิจอะไรที่มันไปไม่ได้ จะต้องการให้มันดีขึ้น ก็ต้องเริ่มตัดค่าใช้จ่าย ปรับปรุงคุณภาพของรายได้ให้ดีขึ้นมากขึ้น แล้วหาช่องทางที่จะให้รายได้ใหม่เกิดขึ้นนะครับ
หลักการอันที่ 3 เนี่ยเราต้องมาดูว่าโลกยุคนี้เขาเรียกว่าเป็นยุคโลกาภิวัฒน์ โลกาภิวัตน์จริงๆ แล้วแปลคำจำกัดความในการทำมาหากินเนี่ยก็คือว่า เสรีภาพในการเคลื่อนย้ายแรงงานคือคน เสรีภาพในการเคลื่อนย้ายทุนคือเงิน เสรีภาพในการเคลื่อนย้ายสินค้าก็คือการส่งออกนำเข้า และเสรีภาพ ในการเคลื่อนย้ายความรู้ข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยี เพราะฉะนั้น 4 ข้อนี้ เป็น 4 ข้อที่เราจะต้องสำนึกตลอดเวลาว่า มันเหมือนเปิดประตูน้ำครับ วันนี้เราต้องการน้ำ น้ำมันแห้ง ปิดประตูทำไม ก็ต้องเปิด แต่ถ้าน้ำมันเข้ามาเต็มแล้วเนี่ย จะล้นจะท่วมแล้ว ก็ต้องปิด มันเหมือนกับหลักการควบคุมประตูน้ำให้ปิดเปิดอย่างถูกต้องเหมาะสมตามปริมาณน้ำที่เราต้องการ ไม่มากไปไม่น้อยไป น้ำที่นี้เปรียบเสมือนคน ยกตัวอย่าง สมมุติว่าเราต้องมีแรงงานที่พิเศษ แต่ว่าเรามีไม่พอ แต่จำเป็นที่ต้องทำปัจจุบันนี้ ก็ต้องนำเข้าแรงงานก็ต้องทำ เหมือนที่ทางสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือดูไบหรือยูเออีหรืออาบูดาบีก็แล้วแต่ ประชากรเขาน้อย เขาอยากได้คนต่างชาติมาสร้างแรงงานให้เขา ในสิ่งที่เขาขาด เขาก็อนุญาตให้มีวีซ่าเป็นที่พำนักถาวร เพื่อที่จะให้คนเหล่านี้มาทำมาหากินได้ มาช่วยสร้างเศรษฐกิจให้เขาได้ อันไหนที่เขามีมากเขาก็ไม่รับ อันไหนที่มีน้อยเขาก็เปิด อันนี้ก็คือเรื่องคน
ยกตัวอย่างอีกอันนึงที่ผมเพิ่งไปเจอ นายนาดีม เด็กอายุ 34 วันนี้ เขาเริ่มทำโครงการโกเจ็ก โกเจ็กก็คือรถมอเตอร์ไซค์ส่งของ ส่งสินค้าอะไรหลายๆ อย่าง เขาเริ่มทำตั้งแต่อายุ 29 ตอนนี้ 34 บริษัทเขามีมูลค่า 10 Billion สหรัฐ ก็คือประมาณ 3 แสนล้านบาท ใช้เวลา 5 ปี ก็เก่งมาก แล้วเขาบอกว่า Engineer ที่อินโดนีเซียมีไม่พอ เขาเลยจ้าง Engineer ที่อินเดีย แต่ว่าไม่ต้องมาอยู่ที่อินโดนีเซียเลยครับ สั่งงานทางออนไลน์ แล้วทำงาน ส่งงานทางออนไลน์หมด เขาจ้างอยู่หลายคนเป็นพันนะครับ อันนี้คือสิ่งที่ให้รู้ว่าวิธีการที่เราขาด เราต้องการ เราก็ต้องเปิด วิธีที่เราล้น เราก็ต้องปิด อันนี้คือสิ่งที่เราจะต้องดูประตูน้ำนี้ให้ดี เงินก็เช่นกัน ถ้าเงินไหลออกมาก เราจะมีวิธีการยังไง เงินไหลเข้าน้อยเราจะทำยังไง เพื่อให้มันพอดีกัน อย่างวันก่อนผมฟังคุณมิ่งขวัญ หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่พูดว่า วันนี้เงินมันหายไปไหน ก็ไปยกตัวอย่างว่า คนสั่งซื้อของทางออนไลน์เยอะมาก เงินไหลออกไปนอกประเทศหมด เข้ามาที่ลงบัญชีดูเหมือนมาก แต่ว่าที่ไม่ลงบัญชีเนี่ยมีเยอะ อันนี้ก็น่าคิดนะครับ ก็เป็นเรื่องที่เราต้องยอมรับว่าโลกยุคใหม่เนี่ยการซื้อของขายของมันซื้อออนไลน์เยอะ ออนไลน์ก็มีทั้งออนไลน์ในประเทศและออนไลน์ต่างประเทศ แต่ว่าสิ่งที่เราทำถามว่าเราปิดได้ไหม ถ้าปิดไม่ได้ ก็ต้องทำไง ก็ต้องทำเป็นว่าเราขายด้วยสิ ไม่ใช่ว่าเราชื้อเขาอย่างเดียวเราต้องขายด้วย นั่นคือเอาสินค้าไทยทั้งหลายเนี่ยขายออนไลน์ให้เยอะที่สุดมากที่สุด ระบบการขนส่งสินค้าที่เป็นของเน่าเสียก็ดี เป็นพวกอาหารก็ดี หรือเป็นพวกของใช้ทั่วไปที่จะต้องวางระบบการขนส่งที่ดี ก็ต้องมาจัดการกัน เพื่อให้เราสามารถส่งของเหล่านี้ได้ แล้วก็ขายออนไลน์ได้นะครับผลไม้จะออนไลน์ได้ไหม อะไรอย่างนี้ครับ อันนี้คือสิ่งที่เราจะต้องมาสร้างความสมดุล ถ้าไม่สมดุลเราก็ขาดดุลอย่างเดียวนะครับ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เป็นหลักการ
สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความรู้และเทคโนโลยี ความรู้เทคโนโลยีเดี๋ยวนี้มันอยู่ตรงมือถือเราหรือแล็บท็อปเรา เราสามารถเข้าห้องสมุดโลก มีความรู้เหมือนที่คนทั่วโลกเขามี ถ้าเราปรับปรุงภาษาอังกฤษเราหน่อย เราจำเป็นที่ต้องคิดว่า อย่าง กสทช.ต้องมานั่งดูว่า ถ้าราคา data มันแพง ถ้าแพงก็คือกีดกันคนจนให้เข้าหาแหล่งข้อมูล คนจนก็ไม่ฉลาดขึ้นสักทีสิ ต้องให้คนจนเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้เหมือนคนรวย นั่นก็คือราคาค่า data ที่คิดต้องไม่แพง และทำยังไงถึงจะให้ระบบสื่อสารข้อมูล Data Communication ไปถึงระดับหมู่บ้านให้ได้ เพื่อให้คนทุกคนได้มีโอกาส นี่คือหลักการนะครับ หลักการก่อน แต่วิธีการเดี๋ยวมาคุยกันอีกทีนะครับ
เรื่องการเงินอีกอันนึง ระบบนี้ โลกเราอยู่ระบบทุนนิยม เราชอบไม่ชอบเราต้องอยู่กับมันให้ได้ เพราะมันเป็นทุนนิยมทั้งโลก ทุนนิยมแปลตรงๆ ง่ายๆ คือ ไม่มีทุน ไม่นิยม ก็คือสรุปแล้วว่าคนชนบทไม่มีสภาพคล่อง เพราะอะไร คนชนบทมีเงินอยู่น้อยนิดไปฝากออมทรัพย์ไว้ รวมกันก็เยอะเหมือนกัน ก็ถูกนำมาปล่อยกู้ในเมือง มาปล่อยกู้ในกรุงเทพ เพราะฉะนั้นเงินมันถูกดูดออกมา เมื่อเงินไม่มี งานก็ไม่มี เมื่องานไม่มี มนุษย์ที่มีปัญญามีทักษะก็ไม่อยู่ เขาก็ต้องไปดิ้นรนหาที่มีงาน ก็เลยเข้ามากระจุกอยู่ในกรุงเทพ ทำให้กรุงเทพรถติด มีแหล่งสลัมเยอะ เพราะเขาต้องดิ้นรนเอาตัวรอดกัน ส่วนชนบทก็มีแต่คนแก่กับเด็กอยู่ เพราะฉะนั้นวันนี้ต้องเอาเงินไปหาชาวบ้าน ไม่ใช่เอาชาวบ้านมาหาเงินในเมือง ต้องเอาเงินกลับไปที่ชาวบ้าน นั่นก็คือว่าทำอย่างไรถึงจะให้เงินกลับไปสู่ชนบท เหมือนที่ผมทำตอนนั้นเรื่องกองทุนหมู่บ้าน แต่วันนี้เนี่ยโลกมันเปลี่ยนไป มันต้องทำมากขึ้นอีกนะครับ ต้องมีวิธีมากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Fintech หรือเป็นเรื่องของเทคโนโลยีทางด้านการเงิน ซึ่งตอนนี้มันก้าวไปเยอะนะครับ ระบบการกู้ที่เป็น Peer-to-peer และวันนี้ CryptoMoney เนี่ย ในโลกข้างหน้ามันเกิดแน่ แต่ว่าต้องมีทรัพย์สิน Backed ไม่ใช่เป็นตัวลอยๆ เหมือน bitcoin นี่ลอยไปหน่อย สมมุติว่ายกตัวอย่าง วันนี้จีนเนี่ยคิดแล้วครับ จีนจะทำ CryptoMoney ของตัวเอง แต่ว่าเป็น CryptoMoney โดยใช้เงินหยวนของเขานี่แหละ back ไม่ใช่เป็น CryptoMoney ลอยๆ คือเงินดิจิตอลนี่แหละ ไม่ลอยๆ อย่างนั้น เพราะฉะนั้นโลกข้างหน้าเนี่ยมันก้าวเข้าไปสู่ที่เรียกว่า cashless คือใช้เงินสดน้อยลงไปเรื่อยๆ คนจีนวันนี้เนี่ยไปซื้อกับข้าว 10 บาท 20 บาท จ่ายทางออนไลน์หมด ยกเว้นบางที่ๆ เครื่องไม้เครื่องมือยังไม่พอ เช่นเรื่องทางด่วนบางแห่งยังต้องใช้เงินอยู่ เงินสดในจีนใช้น้อยลงเรื่อยๆ แล้วจีนก็เลยจะทำ CryptoMoney รัสเซียคิดจะทำ CryptoMoney โดยอิงทอง นะครับ เพราะฉะนั้นเนี่ยโลกกำลังจะเปลี่ยนอย่างรวดเร็วในระยะต่อไปนี้ เพราะว่า blockchain มาแรง หรือที่เราเรียกว่าเป็น internet of value แล้วก็ความปลอดภัยมันสูงมากขึ้นนะครับ เพราะฉะนั้นก็จะทำให้คนใช้ blockchain สร้าง CryptoMoney ก็ดี การปล่อยกู้แบบ Peer-to-peer ก็ดีเพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเราเนี่ยรู้เท่าทันโลก คือเรื่องโลกาภิวัตน์ ปรับกระบวนท่าในการที่จะควบคุมประตูน้ำด้านคน เงิน สินค้า เทคโนโลยี และความรู้นี่ ถ้าเรา 4 อย่างนี้ เราเป็นมวย เราทันโลก เราก็จะไม่โดนกิน หรือเราจะไปกินคนอื่นเขามั้ง ไม่ใช่โดนเขากินข้างเดียว แล้วก็ในประเทศก็ต้องจัดให้ดีว่าให้ทุนมันเข้าไปแทรกซึมลงไปในทุกระดับชั้นของการทำมาหากิน เพราะว่าถ้าคนไม่มีทุนทำมาหากิน มันก็ทำมาหากินไม่ได้ แล้วต้องไปกู้หนี้นอกระบบ ก็ลำบาก ก็ชักหน้าไม่ถึงหลังนะครับ วันนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือว่าในเมื่อการบริหารผิดพลาดมานานเนี่ย คนต้องดิ้นรนเพื่อมีชีวิตอยู่ ก็กู้หนี้ยืมสิน หลายครอบครัวหลายธุรกิจอยู่ในสภาพที่ว่ากู้เงินข้างหน้ามาใช้หนี้ในอดีต แต่ยังไม่รู้ว่าจะทำมาหากินอะไรต่อ แล้วก็หมุนเงินไปเรื่อยๆ ซึ่งผมผ่านชีวิตเหล่านี้มาหมดแล้ว เพราะฉะนั้นวันนี้รัฐจะ ต้องทำการปรับโครงสร้างหนี้อย่างแรงเลย ปรับโครงสร้างหนี้ทั้งครัวเรือน ปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งธุรกิจขนาดเล็กขนาดกลาง ขนาดใหญ่ไม่ต้องพูดถึงเขาช่วยตัวเองได้ เขามีเครดิต แต่ขนาดเล็กขนาดกลาง และก็ชาวบ้านขายของตามตลาดตามถนน แล้วก็ครัวเรือนทั้งหลาย หรือเกษตรกรด้วย ถ้าเราไม่ปรับโครงสร้างหนี้ให้เขาสามารถที่จะมีภาระหนี้ที่ต้องผ่อนชำระต่ำกว่ารายได้ที่เขาพึงได้รับเนี่ย ก็จะทำให้เขาต้องสร้างหนี้ใหม่ขึ้นมาอีก มันก็จะเป็นดินพอกหางหมูไม่รู้จักจบ เหมือนหนี้ของครูทั้งหลายนะครับ เพราะว่าเปิดช่องให้กู้ กู้หมด กู้เพื่อใช้หนี้เก่า เพราะฉะนั้นมันไม่มีทางที่จะรอด และรัฐต้องทำ วันนี้เราต้องยอมรับว่าบ้านเมืองเราคนเป็นหนี้มากกว่าความสามารถในการชำระคือรายได้ตัวเองมีจำนวนมาก เพราะฉะนั้นถ้าไม่ปรับโครงสร้างหนี้ตรงนี้ มันไม่รู้จะเดินต่อไปยังไง มันเหมือนว่าเขาป่วย ป่วยแล้วไม่รักษา แล้วจะบอกให้ไปวิ่งมาราธอน มันเป็นไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้นถ้าจะวิ่งมาราธอนด้วยกันก็ต้องรักษาคนป่วยก่อน คนป่วยแข็งแรงดีแล้วค่อยมาวิ่งมาราธอนกัน นั่นคือสิ่งที่ต้องรีบทำปัจจุบัน ก็คือปรับโครงสร้างหนี้นะครับ แล้วก็พยายามจับทรัพยากรที่มีอยู่เข้ามาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และกู้หนี้ใหม่ให้น้อยที่สุด ถ้าเรามาถึงแล้วกู้หนี้ก่อนเนี่ยมันง่ายดีครับ แต่ระยะยาวมันเป็นปัญหา ตอนผมเป็นนายกตอนช่วงนั้นปี 44 ที่เรายังเป็นหนี้ IMF อยู่ คำแรกที่ถูกสื่อมวลชนถามเขาถามว่า แล้วอะไรคือนโยบายหลักสำคัญ ผมบอกว่าช่วยเหลือตัวเองก่อน ก่อนที่พระเจ้าจะช่วยเรา ก็คือสุขแล้วผมไม่กู้หนี้เพิ่ม เขาก็ตกใจ ว่าเป็นหนี้ขนาดนี้แล้วไม่กู้หนี้ได้ไง ผมบอกว่าผมไม่กู้หนี้เพิ่ม เพราะผมมั่นใจว่าสภาพคล่องในประเทศมีเพียงพอ นั่นคือสิ่งที่ทำให้เครดิตประเทศกลับคืนมาเลยว่า เห้ย เขามีวิธีนี่หว่า อย่างนี้เนี่ยตอนหลังมา พอเราชำระหนี้ IMF เสร็จ ผมถูกตื้อให้กู้น่าดูเลย เพราะคนที่เงินเหลือเนี่ย มันก็จะให้เรากู้อย่างเดียว เพราะฉะนั้นเราอย่าไปเห็นว่าเขาให้เงินกู้มา แล้วยังไม่รู้เอามาทำอะไรเนี่ย คือดอกเบี้ยมันเดินแล้วนะ เพราะฉะนั้นต้องคิดว่าก่อนจะกู้เงินต้องคิดว่ากู้แล้วเราจะเอามาสร้างรายได้อย่างไรที่ให้มัน มีรายได้มากกว่าต้นทุนเงินที่เราเอามา สมมุติดอกเบี้ย 5 ถ้ารายได้เราต่ำกว่า 5 เราจะไปกู้มาทำไม กู้มาก็เจ็บตัว ขาดทุนตลอด อันนี้คือการที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับขึ้นมาดีภายใน 1 ปี เนี่ยคือ 1.ต้องปรับโครงสร้างหนี้ให้ประชาชนและภาคธุรกิจขนาดเล็ก 2.ต้องจัดการบริหารทรัพยากรที่มีอยู่ให้เหมาะสม โดยที่ยังไม่ต้องไปกู้เพิ่ม แล้วก็ 3.บริหารด้านของโลกาภิวัตน์ให้ดี เพื่อจะไม่ให้เราต้องขาดดุลตลอดเวลา โดยที่ขาดดุลนอกบัญชี ขาดดุลในบัญชีมันไม่ขาดดุลเพราะว่าเราส่งออกเยอะ แต่ขาดดุลนอกบัญชีมันจะเกิดขึ้น โดยที่เงินมันไหลออกเราไม่รู้ตัวนะครับ เพราะฉะนั้นก็ต้องรีบแก้ไข แล้วก็พยายามสร้างรายได้ใหม่ๆ สำคัญที่สุดคนบอกว่าแล้วโลกยุคใหม่จะทำมาหากินยังไงดีหล่ะ อย่าลืมนะครับเรามีของดีอยู่ไม่กี่อย่าง อย่างที่ 1 ก็คือ เราเป็นประเทศที่อยู่ในโซนร้อนเพราะนั้นเรามีดินฟ้าอากาศที่เหมาะสมในการทำการเกษตร แต่เกษตรอย่างเดียวอย่างเดิม ไปไม่รอด เกษตรวิถีชีวิตไม่ได้ ต้องเป็นเกษตรเพื่อทำเป็นธุรกิจ นั่นคือต้องเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ต้องเอาการตลาดเข้ามาใช้ ต้องเอาระบบการขายออนไลน์เข้ามาใช้ เพราะฉะนั้นต้องหากินกับดินส่วนหนึ่ง หากินกับดิน หากินกับการเกษตรเนี่ยส่วนหนึ่ง ส่วนที่ 2 ก็หากินกับสิ่งที่มันอยู่ในสายเลือดหรือใน DNA ของคนไทย นั่นก็คือความมีสุนทรียะ การมีทักษะ ไม่ว่าจะเป็นทำกับข้าว คนอีสานยังทำกับข้าวอาหารญี่ปุ่นได้ ฝรั่งได้หมด เรามีงานฝีมือที่สวยงามนะครับ แต่ว่าก็ต้องเอาเทคโนโลยีเข้ามาบวกด้วยนะครับ หากินด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยมีเทคโนโลยีเข้ามาใส่ แล้วอันนึงก็คือหากินบนเทคโนโลยีจริงๆ เหมือนที่เด็กหนุ่มชื่อ นาดีม ที่ทำอยู่ที่อินโดนีเซียนะครับ วันนี้คนไทยเราเด็กหนุ่มของเรามีศักยภาพอีกเยอะ แต่เพียงไม่มีทุน สมัยก่อนเนี่ยของผมใช้แลกเช็ค แต่สมัยนี้ยังมีพวกกองทุนต่างๆ มากมาย แต่ว่าสำคัญคือไอเดียต้องมี เดี๋ยวนี้มีไอเดียแล้วเงินมันหาง่าย แต่ถ้าไม่มีไอเดีย วิ่งไปขอกู้เงินก่อน เพราะว่าเงินขาดมือเนี่ยกู้ยาก เพราะคนไม่เชื่อถือ เพราะฉะนั้นต้องกู้ด้วยไอเดีย ต้องมีไอเดีย ของผมระยะหลังตอนหลังมาที่ผมพ้นจากแลกเช็คเนี่ย ผมก็เอาไอเดียไปขายแล้วก็กู้ บางที่สมัยก่อนเลียนแบบก็มีนะครับ เราเอาไอเดียไปขาย เค้ามีตังค์หนิ เค้าเลียนแบบเราเลยก็มี ต้องระวังหน่อย ต้องเอาไอเดียที่ดีไปเสนอ แต่ว่าหลักการ วิธีการเนี่ยเราเก็บไว้ เพราะเราต้องเป็นคนทำนะครับ
3 อย่างวันนี้ที่ผมมองเห็นเร็วๆ เนี่ย คือ 1.ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ในการทำมาหากินทางเทคโนโลยีนะครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Blockchain ก็ดี การค้าขายออนไลน์ก็ดี การทำ Sharing Economy เหมือนที่โกเจ็กทำก็ดี แล้วก็เรื่องของการที่จะทำเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แล้วอันที่ 3 ก็ทำเกี่ยวกับเรื่องดิน เอาการเกษตรทั้งหลายนะครับ ถ้าจะทำ Organic ก็ต้องพลิกหน้าดินก่อน มีกองทุนพลิกหน้าดิน อันนี้ต้องทำนะครับ ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ถ้าทำพร้อมๆ กันใน 1 ปี ทำได้ครับ