ธุรกิจของห้างหุ้นจำกัด ไอซีเอสไอ ที่เน้นให้เช่าคอมพิวเตอร์ในหน่วยทั้งรัฐและเอกชนดำเนินกิจการเรื่อยมา จนเปลี่ยนชื่อมาเป็นบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ ระยะเวลาห่างกันแค่ 1 ปี ในการเปลี่ยนแปลงของชื่อ ผ่านการเติบโตในธุรกิจของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร
เป็น 1 ปีที่ไม่มีใครรู้เลยว่าอนาคตจะเติบโตเพียงใด ต้องเจออุปสรรคแค่ไหน และอะไรบ้างที่เขาต้องเจอและต้องผ่านไป เพื่อเป็นผู้นำทางธุรกิจให้ได้
คอมพิวเตอร์ได้นำพาเขามาสู่แวดวงของธุรกิจการสื่อสารแบบไร้สาย จากเดิมที่ใครๆ ก็คิดว่า การมีคอมพิวเตอร์ คือที่สุดของความไฮเทคในยุคนั้น ทำให้รอยต่อของชีวิต ดร.ทักษิณ ที่เตรียมพร้อมจะลาออกจากราชการ เพราะธุรกิจเติบโตจนต้องออกมาทำเต็มตัวเสียแล้ว
ปี 2529 บริษัทต่างชาติที่ชื่อ แปซิฟิก เทเลซิส อินเตอร์เนชั่นแนล ของสหรัฐ ผู้ดำเนินการระบบโทรศัพท์ 12 ล้านเลขหมายในแคลิอร์เนียและเนวาดา สหรัฐอเมริกา เข้ามาร่วมทุนกับชินวัตร คอมพิวเตอร์ ก่อตั้งเป็นบริษัท แปซิฟิค เทเลซิส เอนจิเนียริ่ง จำกัด โดยมีบริษัท แปซิฟิค ประเทศไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และผู้ถือหุ้นอันดับสองคือ บริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์
” ปี 2529 ผมสนใจเรื่องโทรคมนาคม ตอนนั้นหลายคนในบริษัทไม่สนับสนุน แต่ผมมองการณ์ไกลกว่า คอมพิวเตอร์จะดีในแง่ชื่อเสียง แต่กำไรไม่สูง ผมก็เริ่มจับงานโทรคมนาคมตั้งแต่นั้นมา และทุกวันนี้ทุกคนยอมรับว่าธุรกิจที่นำมาซึ่งความสำเร็จคือ บริษัทโทรคมนาคม “
ทันทีที่การร่วมทุนแล้วเสร็จ บริษัทนี้ชนะการประมูลการให้บริการวิทยุติดตามตัว หรือ เพจเจอร์จากการสื่อสารแห่งประเทศไทย หรือ กสท.(ในยุคนั้น) ระยะเวลาสัมปทาน 10 ปี ใน เพื่อเปิดให้บริการ “แพคลิงค์” ในปี 2529 ให้บริการเฉพาะในกรุงเทพและปริมณฑล
1 ปีต่อมา ดร.ทักษิณ ลาออกจากราชการตำรวจ เพื่อเป็นแรงผลักในการทำธุรกิจที่เริ่มขยายใหญ่ขึ้น
“กรุงเทพมหานครมีปัญหารถติด ระบบเพจจิ้งจะอำนวยความสะดวกในการติดต่อระหว่างกันมากขึ้นแม้จะอยู่ตามท้องถนน”
หลังชนะประมูล บริษัทผู้ถือหุ้นใหญ่ใน แปซิฟิค เทเลซิส เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ต้องการลงทุนเพิ่มอีก 500 ล้านบาท แต่ ดร.ทักษิณ ขอให้ลงทุนเพิ่ม 4-5 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอตามที่ถูกร้องขอมา เพราะเพิ่งขยายธุรกิจ เขาไม่ได้มีเงินเป็นร้อยล้านอย่างที่ขอมา
ในที่สุด ดร.ทักษิณขายหุ้นแพคลิงค์ ในปี 2529
ดร.ทักษิณ เดินหน้าทำธุรกิจการสื่อสารต่อไป ไม่นานนัก บริษัท ดิจิตอล เพจจิ้ง เซอร์วิส จำกัด ซึ่งมี ดร.ทักษิณ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ชนะการประมูลโครงการเซลลูลาร์ 900 จากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ในปี 2533 ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น “ชินวัตร เพจจิ้ง” มีบริษัทสิงคโปร์ เทเลคอม ร่วมถือหุ้นด้วย
เพจเจอร์ที่ชื่อ “โฟนลิงค์” โดย ดร.ทักษิณ ได้เปิดบริการในเดือนมิถุนายน ปี 2533 และแพคลิงค์กลายเป็นคู่แข่งทันที
แม้โฟนลิงค์จะเป็นแบรนด์ใหม่ แต่ได้เปรียบแพคลิงค์หลายด้าน เพราะมีเขตให้บริการครอบคลุมไปยังต่างจังหวัด มีพื้นที่มากกว่า การติดต่อเข้าศูนย์ใช้หมายเลข 3 ตัว คือ 151 และ 152 ขณะที่คู่แข่งต้องใช้หมายเลข 7 ตัวเหมือนหมายเลขโทรศัพท์ ส่วนตัวเครื่องเพจเจอร์มีหลายแบบให้เลือกใช้ แตกต่างจากคู่แข่งที่มีสีดำรุ่นเดียว ราคาเครื่องมีให้เลือกตั้งแต่ 2,700 – 10,000 บาทขึ้นไป
โฟนลิงค์ของ ดร.ทักษิณ ใช้กลยุทธ์การประชาสัมพันธ์อย่างหนักและนำกลยุทธ์การตลาดมาใช้ ทำให้การเติบโตของโฟนลิงค์ 1 ปี เท่ากับแพคลิงค์ที่ทำธุรกิจ 3 ปี
การใช้สัมปทานเซลลูลาร์ 900 ของ ดร.ทักษิณ เต็มไปด้วยความคุ้มค่าและมองไกล เพราะนอกจากจะเป็นธุรกิจเพจเจอร์แบรนด์โฟนลิงค์แล้ว เขายังขยายธุรกิจต่อไปยังการสื่อสาร จากเดิมที่ทำการสื่อสารทางเดียว แต่เขากำลังจะก้าวเข้าสู่การสื่อสารสองทาง นั่นคือการเริ่มต้นธุรกิจโทรศัพท์
การเดินทางแต่ละครั้ง ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่เต็มไปด้วยการผจญภัยที่สุดแสนจะท้าทาย ช่วงชีวิตของนักธุรกิจวัย 37 ปีในตอนนั้น เขาคือคนที่เกิดมากับคำว่า เดินหน้า คำเดียวเท่านั้น