Next Normal ความปกติใหม่ของโลกใบเดิม - Thaksin Official


ดร.ทักษิณ ชินวัตร  |  CARE TALK 9 พฤศจิกายน 2564

คำกล่าวนี้คือข้อย้ำเตือนของอดีตนายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่กล่าวเอาไว้ผ่านเวทีคลับเฮาส์ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ชี้ให้เห็นว่า สภาวะปกติใหม่หรือนิวนอร์มัล (New Normal) กำลังจะมาถึง และทุก ๆ ฝ่ายที่ยังมีความหวาดกลัวในผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ต้องรีบเตรียมพร้อมในการรับมือ โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและบริการที่แรงงานหายออกไปจากระบบเกินร้อยละ 20 ในปีเดียว จากการล็อกดาวน์ และการนำ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เข้ามาใช้ ณ ขณะนี้ ทั่วโลกต่างทำใจยอมรับว่า ไวรัสโควิด 19 จะไม่มีวันหายไป และทางเลือกสุดท้ายที่ทุกคนมีคือการหาวิธีอยู่ร่วมกับมัน 

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกมีการปรับตัวภายใต้ความเชื่อที่ว่า โควิด 19 จะไม่ให้ไปจากโลกใบนี้ จึงเริ่มปรับตัวเข้าสู่สภาวะนิวนอร์มอล เพื่อที่จะสามารถอยู่ร่วมกับไวรัสตัวนี้ให้ได้ ควบคู่ไปกับการประคับประคองเศรษฐกิจ ไปจนถึงยกระดับเศรษฐกิจท่ามกลางไวรัสที่ยังไม่หมดไป ตัวอย่างเช่น กรณีของอินเดียที่แม้จะยังฉีดวัคซีนให้ประชากรไม่เกินร้อยละ 40 แต่ตัดสินใจเปิดประเทศเพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ ควบคู่กับการจัดการด้านสาธารณสุข ทางด้านประเทศสิงคโปร์ นายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุงได้ออกมายอมรับเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมาแล้วว่าต้องเปิดประเทศ และยอมรับให้ไวรัสโควิด-19 เป็นโรคท้องถิ่นไป เพื่อให้ธุรกิจและการค้าสามารถกลับมาเปิดทำการต่อได้  สอดคล้องกับประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ใช้วัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ ของตนเองเป็นจุดขายและเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปเพื่อฉีดวัคซีนได้

ภูมิทัศน์ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ทุกประเทศจะต้องเผชิญ คือ สภาวะความปกติใหม่ หรือสภาวะความเคยชินบางประการที่เกิดขึ้นในช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาด อาทิ การเว้นระยะห่าง สวมใส่หน้ากากตลอดเวลา ไปจนถึงวิถีการทำงานที่เปลี่ยนไป เช่น การทำงานโดยไม่เข้าสำนักงานหรือเวิร์กฟรอมโฮม การปรับเปลี่ยนระบบการสื่อสารภายในองค์กร ไปจนถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการ ทั้งหมดนี้ได้พิสูจน์แล้วว่านอกจากจะสามารถลดความเสี่ยงด้านการติดเชื้อในสถานที่ทำงานแล้ว ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางของพนักงาน ลูกจ้าง รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านการดำเนินการบริหารงานของบริษัทเองด้วย ทำให้ลักษณะงานมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการปรับตัวเข้าสู่สภาวะปกติใหม่ขั้นตอนหนึ่ง

การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ (Technology Adoption) ในแต่ละบริษัทของต่างประเทศ มีให้เห็นเป็นตัวอย่างของสภาวะปกติใหม่ที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น การปรับตัวของบริษัทแอสตร้าเซเนก้า (AstraZeneca) แอร์บีเอ็นบี (Airbnb) และนาซ่า (NASA) หรือแม้แต่ทีมหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) อลิซาเบ็ธ วอร์เรน (Elizabeth Warren) และแอนดรู หยาง (Andrew Yang) ล้วนพยายามปรับรูปแบบการสื่อสารและจัดการภายในองค์กรใหม่ ด้วยการนำโปรแกรม Slack แพลตฟอร์มสำหรับสร้างห้องประชุมออนไลน์ และฐานข้อมูลบริษัท เข้ามาใช้จัดสรรระบบการสื่อสารในแต่ละแผนกงาน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก และสนับสนุนให้การทำงานทางไกลสามารถบูรณาการเข้าหากันได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องเดินทางมาเจอกัน หรือใช้โปรแกรมและเครื่องมือที่ซ้ำซ้อนหลายชิ้นแบบในอดีต

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือ การปรับตัวของนิตยสารคินโฟล์ก (Kinfolk) บริษัทคอร์สเซรา (Coursera) และมายฟิตเนสพาล (myFitnesspal) ที่นำโปรแกรม แบมบูเฮชอาร์ (BambooHR) เข้ามาประยุกต์ใช้ในการจัดระบบฐานข้อมูลทรัพยากรบุคคล ทั้งเงินเดือน และแผนการพัฒนาบุคลากรเพื่อลดความถี่ในการเข้าสำนักงาน และการจัดประชุมที่ไม่จำเป็น แต่สามารถเพิ่มความคล่องตัว และอำนวยความสะดวกในการวางแผนของฝ่ายบุคคลได้มากขึ้น

ดร.ทักษิณ ชินวัตร  |  CARE TALK 9 พฤศจิกายน 2564

การเข้าสู่สภาวะปกติในประเทศไทย กลับมีเพียงธุรกิจขนาดใหญ่ อาทิ ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่สามารถรับมือกับสภาวะปกติใหม่ด้วยการผลักดันแพลตฟอร์มรับส่งอาหารโรบินฮู้ด (Robinhood) ขึ้นมาเพื่อรับส่วนแบ่งตลาดรับส่งอาหาร จากบริษัท แกร็บ (Grab) และไลน์แมน (Lineman) ส่วนในกลุ่มธุรกิจโรงแรมเองก็พยายามปรับตัวด้วยการผลักดันแพ็กเกจการท่องเที่ยวแบบสเตย์เคชัน (Staycation) เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยวภายในประเทศ และกลุ่มวัยทำงานที่ต้องการเปลี่ยนสถานที่ค้างแรม ส่วนห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ก็ปรับตัวด้วยการผลักดันแพลตฟอร์มการซื้อ-ขายออนไลน์ของตัวเอง เพื่อเข้าถึงฐานลูกค้าเดิม และประคองรายได้ของธุรกิจในเครือไว้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของช่วงเวลาปกติ

ผู้ที่สามารถปรับตัวได้ล้วนแต่เป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ส่วนธุรกิจรายย่อย และภาคประชาชนต้องปรับตัวและสร้างนวัตกรรมเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือกันและกัน  เห็นได้จากการสร้างกลุ่มเฟซบุ๊คเพื่อแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้ากัน เช่น มาร์เก็ตเพลสที่อาศัยความเป็นศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบันของแต่ละมหาวิทยาลัยในการสร้างความไว้วางใจระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย อีกกรณีหนึ่งคือการปรับตัวจากการค้าขายในตลาดนัดและห้างสรรพสินค้ามาสู่การขายผ่านช่องทางออนไลน์ของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ อาทิ ช็อปปี้ (Shopee) และลาซาด้า (Lazada) ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากสถิติการขนส่งเอกชนอย่างบริษัทเคอร์รี่ (Kerry) แฟลช (Flash) หรือนินจา (Ninja) ที่ปรับตัวขึ้นกว่าร้อยละ 10

เมื่อพิจารณาการเข้าสู่นิวนอร์มอลอย่างมีประสิทธิภาพของต่างประเทศแล้ว จะเห็นได้ว่า ความแข็งแรงของภาคเอกชน ที่ได้รับการสนับสนุนโดยภาครัฐบาล ในการร่วมกันก้าวเข้าสู่นิวนอร์มอลไปพร้อมกัน ทั้งเชิงนโยบายทางด้านเศรษฐกิจและสาธารณสุข จะช่วยวางรากฐานนโยบายเพื่อสนับสนุนให้ภาคประชาชนสามารถปรับตัวเข้าสู่สภาวะดังกล่าวได้ในระยะยาว ประเทศไทยสามารถศึกษาจากกรณีศึกษาเหล่านี้เพื่อสร้างการปรับตัวก้าวเข้าสู่สภาวะนิวนอร์มอลในไทย เพราะโจทย์ข้อสำคัญของโลกในวันนี้ คือ เราต้องทำอย่างไรถึงจะสามารถอยู่กับไวรัสโควิด 19 ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ลดความเสียหายในชิงเศรษฐกิจ และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันด้วยระบบสาธารณสุขให้กับคนในประเทศ

บทความโดย : กองบรรณาธิการ Thaksin Official Website