คำประกาศวาระแห่งชาติ : 11 ยุทธศาสตร์สร้างชาติสู่อนาคต - Thaksin Official


       ทศวรรษ 2530 เป็นช่วงเวลาที่ประเทศเป็นประชาธิปไตยจนเกิดบรรยากาศทางการเมืองที่เปิดกว้างอย่างไม่เคยเป็น คนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถในแวดวงต่างๆ นำเสนอตัวเองให้ประชาชนเลือกเป็นผู้บริหารประเทศอย่างไม่ขาดสาย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือด้วยวิธีผ่านการเลือกตั้งและการจัดตั้งพรรคการเมือง

ดร.ทักษิณ เป็นหนึ่งในคนหนุ่มแห่งยุคสมัยที่ใฝ่ฝันจะเห็นประเทศนี้เปลี่ยนแปลง และเมื่อหน้าต่างของโอกาสในการสร้างความเปลี่ยนแปลงบังเกิดขึ้น ดร.ทักษิณที่ตอนนั้นอายุ 40 กว่าๆ ก็เข้ามามีส่วนเปลี่ยนประเทศอย่างไม่ลังเล ชื่อของดร.ทักษิณ หอมหวลในฐานะนักธุรกิจที่สร้างตัวเองจากเศรษฐกิจใหม่ๆ จนประสบความสำเร็จในเวลารวดเร็ว ทันทีที่ ดร.ทักษิณ เข้าสู่สนามการเมือง พรรคร่วมรัฐบาลจึงให้ความไว้วางใจดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศยุคที่ประเทศยังมีบทบาทในภูมิภาค และนั่นคือปฐมบทของผู้นำที่เปลี่ยนประเทศนี้ไปตลอดกาล

ดร.ทักษิณ เริ่มต้นทำพรรคของตัวเองในปี 2541 หรือหลังจากเป็นรัฐมนตรีครั้งแรกแค่สามปี และถ้าทุกวันนี้จะตื่นเต้นกับการตั้งพรรคโดยไม่มีผู้ก่อต้องเป็นนักการเมืองหน้าเก่าเลย ดร.ทักษิณสร้างพรรคไทยรักไทยโดยมีคณะกรรมการชุดแรกเป็นนักวิชาการ-นักธุรกิจ-นักบริหาร ซึ่งไม่เคยมีตำแหน่งทางการเมืองแม้แต่คนเดียว พรรคไทยรักไทยลงเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2544 โดยประชาชนให้ความยอมรับจนชนะเลือกตั้งในฐานะพรรคอันดับหนึ่งและเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลที่มี ดร.ทักษิณ เป็นนายกฯ หัวใจแห่งความสำเร็จคือการทำพรคโดยให้ความสำคัญกับนโยบาย และที่สำคัญกว่านั้นคือการจัดทำนโยบายโดยรับฟังความเห็นประชาชน การคิดนโยบายของพรรคไทยรักไทย ใช้เวลาเก็บข้อมูลประมาณ 1 ปี 8 เดือนนับจากวันก่อตั้งพรรค ด้วยการระดมสรรพกำลังกันออกไปพบปะพูดคุยกับประชาชนหลากหลายกลุ่มอาชีพทั่วประเทศ เพื่อรับฟังความคิดเห็น และรับทราบปัญหาต่างๆ  หลังจากนั้นก็นำมากลั่นกรองออกมาเป็น”11 วาระแห่งชาติ” ดังนี้

วาระที่ 1 พัฒนาตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดตราสารหนี้ให้เข้มแข็ง 

พรรคไทยรักไทยเสนอนโยบายลดภาษีเพื่อจูงใจให้บริษัทเอกชนและรัฐวิสาหกิจจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์   นอกจากนี้ยังส่งเสริมตลาดตราสารหนี้ ให้ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนออกพันธบัตรให้มากขึ้น เพราะเห็นว่ากระบวนการนี้จะทำให้การบริหารโปร่งใส ตรวจสอบง่าย เปิดโอกาสให้รัฐเพิ่มการลงทุนโดยกู้ยืมเงินจากประชาชน ทำให้เงินทุนหมุนเวียนในประเทศเพิ่มขึ้นตามมา

วาระที่ 2 การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและโครงสร้างหนี้

พรรคไทยรักไทยแก้ปัญหาหนี้โดยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และหลักการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยรักไทยคือการแยกธุรกิจและอุตสาหกรรมออกเป็นกลุ่มดาวรุ่ง, กลุ่มที่เข้มแข็ง และกลุ่มที่จะเติบโตเป็นเศรษฐกิจใหม่ จากนั้นจึงตั้งสถาบันบริหารสินทรัพย์แห่งชาติเพื่อซื้อหนี้เสียจากระบบไปบริหารในระยะยาว

วาระที่ 3 เร่งสร้างงานและเร่งสร้างรายได้ 

พรรคไทยรักไทยเห็นว่ารายได้ประเทศมาจากภาควิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งขณะนั้นอ่อนแอและไม่ได้รับการเหลียวแล พรรคจึงส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ เด็กไทยเมื่อเรียนจบมาแล้วไม่ต้องดิ้นรนเป็นลูกจ้าง ผลักดันกองทุนร่วมทุน ส่งเสริมการให้ความรู้และคำแนะนำแก่ผู้มีความคิดสร้างธุรกิจ

วาระที่ 4 การฟื้นชีวิตเกษตรกรไทย 

พรรคไทยรักไทยยึดแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งทำให้ครอบครัวเกษตรกรไม่เป็นหนี้, สร้างชุมชนเข้มแข็งโดยสามารถผลิตสินค้าเกษตรให้ขายและแข่งขันได้ทั่วโลก, พักชำระหนี้เกษตรกรรายย่อย 3 ปี เพื่อให้เกษตรกรมีโอกาสฟื้นตัว และสร้างสินค้า 1 ผลิตภัณฑ์ 1 ตำบล โดยรัฐจะช่วยสนับสนุนการจัดจำหน่ายสินค้าให้แก่เกษตรกร

วาระที่ 5 การศึกษา 

การศึกษาที่ผ่านมาเหมือนเราไม่รู้เลยว่าผลิตผู้จบการศึกษาออกมาเพื่ออะไร สิ่งสำคัญคือเราต้องมีแผนในเรื่องของเศรษฐกิจก่อน แล้วจะต้องดูว่าเราจะผลิตอะไร และผลิตอย่างไร แล้วโลกกำลังไปทิศทางไหน แล้วเราจะทำอย่างไรให้เด็กไทยเราทันโลก  เก่ง รวมทั้งเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติตรงกับความต้องการอย่างแท้จริง

วาระที่ 6 ประกาศสงครามกับยาเสพติด 

พรรคไทยรักไทยประกาศสงครามขั้นแตกหักกับยาเสพติด ส่งเสริมการนำเข้าเครื่องมือ-การลงทุน-ลดหย่อนภาษีแก่โรงพยาบาลเอกชนที่ตั้งศูนย์ฟื้นฟูเด็กติดยา และยังมีแนวคิดที่จะคืนชีพทหารเสนารักษ์ เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องช่วยเด็กติดยาอย่างเป็นระบบ ต้องรื้อฟื้นสิ่งที่เป็นความดีงามในอดีตมาปรับเข้ากับยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นกีฬา ดนตรี ศิลปะ เทคโนโลยี ทุกๆ เรื่องที่เด็กมีความสามารถได้ใช้ความสามารถอย่างถูกทาง 

วาระที่ 7 ประกาศสงครามกับคอรัปชั่น 

พรรคไทยรักไทยเน้นการสร้างค่านิยมใหม่ที่ไม่ยอมรับการคอรัปชั่นและรังเกียจเรื่องนี้ด้วย ต้องแก้กฎหมายและวิธีการเพื่อให้ สำนักงานคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) สามารถทำงานได้ดีขึ้น คล่องตัวขึ้น รวมทั้งให้ปปช.ภาคประชาชนควบคู่กันไปเพื่อมีระบบตรวจสอบที่เข้มข้นยิ่งขึ้น

วาระที่ 8 พลิกโฉมการสาธารณสุขใหม่ 

พรรคไทยรักไทยเสนอให้ออก พ.ร.บ.กองทุนสาธารณสุข เพื่อสร้างเครือข่ายของโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลรัฐ และคลินิก ยุติปัญหาที่คนไข้ไม่กล้าไปโรงพยาบาลเอกชนกับคลินิกเพราะไม่มีเงิน กระจายการบริการภาครัฐให้ทั่วถึง ซึ่งทั้งหมดคือต้นกำเนิดของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาท รักษาได้ทุกโรค

วาระที่ 9 สร้างความแข็งแกร่งของสถาบันครอบครัวโดยเพิ่มบทบาทของสตรี  

พรรคไทยรักไทยอยากให้สตรีเข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น สนับสนุนโอกาสทางการศึกษาของสตรีเพื่อแก้ปัญหาการกีดกันโอกาสของผู้หญิงอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต  พรรคไทยรักไทยเห็นว่าฐานที่มั่นที่สำคัญของชีวิตคนเราคือครอบครัว และสตรีคือคนที่รัฐต้องให้ความสำคัญมากกว่าที่ผ่านมา

วาระที่ 10 แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ถึงเวลาที่จะต้องปรับปรุงวิธีการบริหารรัฐวิสาหกิจให้เป็นระบบเหมือนเอกชนมืออาชีพ และมีระบบการตรวจสอบอย่างดี หลังจากนั้นจึงนำบริษัทที่พัฒนาแล้วจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ 

วาระที่ 11 วางยุทธศาสตร์ภูมิภาคใหม่ ควรกระจายความสำคัญของเมืองออกไป กรุงเทพฯควรใหญ่แต่พอดี ขณะเดียวกันต้องคิดว่าภาคเหนือจะให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของอะไร ถ้าภาคอีสาน นครราชสีมา ขอนแก่น จะให้เป็นศูนย์กลางของอะไร ถ้าเป็นภาคใต้ จะให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางของอะไร 

ยุทธศาสตร์เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศทั้ง 11 ข้อ คือวาระแห่งชาติของพรรคไทยรักไทยที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว  พรรคเสนอทิศทางประเทศให้ประชาชนเลือกเพื่อเลือกพรรคไปผลักดันกฎหมายและการบริหารต่อในอนาคต กระบวนการจัดทำนโยบายและปฏิบัติตามนโยบายจึงเดินหน้าโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางตลอดเวลาร