ดร.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2544 อันเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยเผชิญความเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างเศรษฐกิจพื้นฐานอย่างไม่เคยเป็น เพราะทศวรรษ 2520 เป็นยุคทองของอุตสาหกรรม และทศวรรษ 2530 เป็นยุคทองของทุนการเงิน แต่ในปี 2544 เราเผชิญโจทย์ใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม
ทุกอุตสาหกรรมเติบโตเพราะความได้เปรียบด้านค่าแรง แต่ในทศวรรษ 2540 นักลงทุนต่างชาติเริ่มแสดงสัญญาณว่าจะย้ายการผลิตไปเวียดนามหรือประเทศอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนทุนการเงินสร้างวิกฤติเศรษฐกิจจนไม่สามารถเติบโตอย่างที่ผ่านมา
ดร.ทักษิณ เป็นนายกในเวลาที่ทุกอย่างในประเทศเป็นซากปรักหักพัง ยิ่งไปกว่านั้นก็คือวิกฤติในประเทศเชื่อมโยงกับวิกฤติเศรษฐกิจระดับโลก ดร.ทักษิณ จึงพัฒนาแนวคิด “ ระบบเศรษฐกิจแบบคู่ขนาน” โดยรัฐมุ่งฟื้นฟูการเติบโตในประเทศไล่ล้อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกไปตลอดเวลา
ความสำเร็จของ ดร.ทักษิณ ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยอย่างรวดเร็วทำให้นักวิชาการและสื่อตั้งฉายาแนวคิดนี้ว่า “ทักษิโณมิกส์” เพื่อยกย่องหลักบริหารแบบสมดุลที่รัฐบาลสร้างดุลยภาพระหว่าง การเปิดตลาดเสรีและการส่งเสริมเศรษฐกิจภายในประเทศหลังปี 2544 ซึ่งเป็นวิธีที่ถูกต้องที่สุดกับไทย
ตรงกันข้ามกับนักการเมืองไทยจำนวนมากที่คิดว่าประเทศไทยหลังปี 2540 ควรปิดประเทศและใช้เศรษฐกิจแบบชาตินิยม ดร.ทักษิณ ขยายความคิดในการปาฐกถาต่อสถาบันนโยบายโลก (World Policy Institute) ในงาน Global Leader Briefing Series เมื่อวันที่ 9 มี.ค. พ.ศ.2559 ที่นิวยอร์คว่า
“ในศตวรรษที่ 21 ความก้าวหน้าและความกินดีอยู่ดีจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง และศักยภาพในการสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ‘ระบบทุนนิยมในตลาดเสรีกับประชาธิปไตยแบบเปิด’ และ ‘ระบบทุนนิยมซึ่งนำโดยรัฐ’ ต้องปรับใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละประเทศตลอดเวลา”
ในปาฐกถาครั้งนั้น ดร.ทักษิณ พูดถึงการสร้างระบบเศรษฐกิจที่ทุกคนเข้าถึงเครือข่าย (Access to network) ซึ่งในตอนนั้นอาจไกลสังคมไทยเกินไป แต่ความเข้าใจ “เศรษฐกิจเครือข่าย” ที่เศรษฐกิจขับเคลื่อนผ่านระบบข้อมูลข่าวสารแสดงให้เห็นวิสัยทัศน์ ดร.ทักษิณ ที่มาก่อนกาลอย่างสมบูรณ์
ในทศวรรษ 2540 ที่ทุกคนยังหมกมุ่นเรื่องทุนการเงินและทุนอุตสาหกรรม ดร.ทักษิณ เป็นผู้นำไทยคนแรกและคนเดียวจนบัดนี้ที่เห็นว่า “ระบบข้อมูลข่าวสาร” ทำให้เกิด “เศรษฐกิจเครือข่าย” ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ได้อยู่แค่โรงงานหรือตลาดหุ้น แต่อยู่ที่ “ระบบข้อมูลข่าวสาร” ในสังคม
ดร.ทักษิณ ประสบความสำเร็จในฐานะนักธุรกิจด้านโทรคมนาคมก่อนที่จะมีบทบาทางการเมือง “เศรษฐกิจเครือข่าย” ทำงานในสังคมที่มีการเปิดเสรีด้านข้อมูลข่าวสารและคมนาคมจนเกิดกิจกรรมเศรษฐกิจใหม่ๆ ขึ้นมหาศาล ตัวอย่างเช่นการขยายตัวของการค้าออนไลน์ในยุคปัจจุบัน