เปลี่ยนปัญญาเป็นทุนทางสังคมเพื่อพัฒนาประเทศ - Thaksin Official


นายกรัฐมนตรีทุกคนชอบพูดเรื่องความสำคัญของสติปัญญา แต่เมื่อดูจากสภาพความเป็นจริงของการศึกษาไทย นายกรัฐมนตรีที่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้จริงๆ มีน้อยกว่าคนที่เห็นความสำคัญแต่ปาก และที่แทบไม่มีเลยก็คือนายกรัฐมนตรีที่ตระหนักว่าปัญญาคือทุนทางสังคมเพื่อพัฒนาประเทศ

ด้วยวิสัยทัศน์ที่เห็นว่าภูมิปัญญาคือทุนของสังคม ดร.ทักษิณจึงมองเห็นต่อไปว่าการระดมปัญญาคือการระดมทุนทางสังคมเพื่อทำให้สังคมเติบโตอย่างยั่งยืนที่สุด ผลก็คือรัฐบาลไทยรักไทยให้ความ

สำคัญเป็นพิเศษต่อการรับฟังผู้ที่มีความรู้ความสามารถจากทุกอาชีพ เช่นเดียวกับประชาชนทุกคน

นอกจากจะตระหนักถึงการสร้างความร่วมมือกับคนทุกฝ่ายในสังคม ดร.ทักษิณ ยังเล็งเห็นถึงการสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อรวบรวมความรู้และประสบการณ์มาพัฒนาประเทศด้วย  แต่รัฐบาลต้องยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นศูนย์กลาง เพื่อเลือกเฟ้นสิ่งที่เหมาะสมกับประเทศจริงๆ

ในโลกทัศน์ของ ดร.ทักษิณ หนทางในการพัฒนาสังคมไทยได้แก่การผลักดันให้ประเทศเดินหน้าสู่ “สังคมเปิด” ที่รัฐมีบทบาทคัดกรองความเปลี่ยนแปลงร่วมกับคนทุกกลุ่ม  รัฐบาลของดร.ทักษิณ จึงไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเรื่อง “ปิดประเทศ”  แต่เห็นว่าควรเปิดกว้าางอย่างมีอิสรภาพในการเลือกเอง

ในปาฐกถา  “ระดมทุนและปัญญา เดินหน้าพัฒนาสังคมไทย” เมื่อ14 ธันวาคม 2548 ดร.ทักษิณ กล่าวชัดเจนถึงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมสู่เศรษฐกิจที่มีความรู้เป็นฐาน (Knowledge-Based Economy)โดยรวบรวมความรู้จากทุกแหล่งเพื่อพัฒนาความสามารถด้านการแข่งขันของไทย

“เราตระหนักว่าเราไม่สามารถเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมีประสิทธิผลได้ด้วยตัวของเราเอง ไม่มีประเทศใดสามารถผูกขาดความรู้และเทคโนโลยีของโลก  รัฐบาลของผมปรารถนาจะใช้ประโยชน์จากความรู้ พรสวรรค์และเทคโนโลยีอันกว้างขวางที่มีอยู่ในโลก เพื่อเร่งพัฒนาประเทศไทย”

ขณะที่เศรษฐกิจปี 2562 พังพินาศเหมือนต้มกบในน้ำร้อนให้กบตายโดยไม่รู้ตัวจนเกิดคำว่า เศรษฐกิจแบบ “ทฤษฎีต้มกบ” ดร.ทักษิณในปี 2548 เห็นว่าประเทศไทยต้องเติบโตแบบก้าวกระโดดเหมือนกบ (leap –frog development)  และยิ่งกว่านั้นคือกวางกาเซลล์หรือแอนทีโลปไปเลย

ด้วยประสบการณ์ของดร.ทักษิณ ในฐานะนักธุรกิจและผู้นำรัฐบาล  หนทางเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศที่ยั่งยืนที่สุดคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน  การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานหรือเมกะโปรเจคท์จึงไม่ได้มีเป้าหมายในตัวเอง แต่เป็นไปเพื่อการยกระดับประเทศระยะยาว

ดร.ทักษิณ อธิบายแนวคิดเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า “ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่เคลื่อนตัวเร็ว เพื่อที่จะแข่งขันให้ประสบความสำเร็จ ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องใช้ความฉับไวหรือเศรษฐกิจของความเร็ว (economy of speed) อย่างไรก็ดี  หนทางนี้จะเป็นไปไม่ได้ หากเราไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น”

“โครงการเมกะโปรเจคท์ที่สำคัญที่สุดของเรา คือการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน สินค้าและบริการแบบเบ็ดเสร็จที่ดำเนินไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ พัฒนาระบบที่ผนวกรวมการขนส่งต่างๆ เข้าเป็นระบบเดียวที่มีประสิทธิภาพที่จะเอื้ออำนวยการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ”

ในมุมมองของดร.ทักษิณ ภารกิจที่สำคัญเป็นอันดับต้นคือการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพในกรุงเทพและปริมณฑล  เหตุผลง่ายๆ คือพื้นที่นี้เป็นศูนย์กลางธุรกิจส่วนใหญ่ของประเทศ การพัฒนาให้ประชากรและสินค้าเคลื่อนตัวไปทุกทิศทางในเวลาน้อยลงจึงเป็นเรื่องจำเป็น

“การพัฒนาเครือข่ายคมนาคมที่เชื่อมโยงถนน ทางรถไฟ ท่าเรือและสนามบินนั้นสำคัญต่อการลดต้นทุนขนส่งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สนามบินสุวรรณภูมิทำให้เราเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค แต่เรายังขาดสายการเดินเรือระดับชาติเพื่อสนับสนุนการขนส่งสินค้าทางทะเล”

นอกจากการลงทุนด้านโครงข่ายขนส่งและคมนาคม ดร.ทักษิณ ยังเห็นความสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านบริหารจัดการน้ำบนดินและใต้ดิน เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศเป็นเกษตรกรรม การแจกจ่ายและระบายน้ำจึงสำคัญจนต้องมีระบบบริหารทรัพยากรน้ำแบบเบ็ดเสร็จ ที่

ไม่เพียงแต่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและน้ำเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ดร.ทักษิณในทศวรรษ 2540 ยังมองเห็นว่าประเทศไทยต้องปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสารด้วยเช่นกัน

ภายใต้วิสัยทัศน์ของ ดร.ทักษิณ รัฐบาลไทยรักไทยผลักดันนโยบายจัดตั้งเครือข่ายบริการเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ (Government Virtual Private Network:G-VPN), ยกระดับบริการ e-Government ทางอินเทอร์เน็ต และให้บริการแบบ one-service ที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนอย่างมาก

น่าสนใจว่า ดร.ทักษิณ แสดงความเป็นผู้นำที่ล้ำยุคสมัยอีกครั้งเมื่อเสนอแนวคิดว่า

“เราต้องการหุ้นส่วนร่วมกันวิจัย, พัฒนา และร่วมทุนสาขาต่างๆ ที่เราสนใจอย่างไบโอเทคโนโลยี นาโนเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์การแพทย์ การแพทย์ทางเลือกและพลังงานทางเลือก ความหลากหลายทางชีวภาพและความก้าวหน้าบางสาขาเป็นจุดแข็งที่น่าสนใจสำหรับผู้จะมาลงทุนในไทย”

“การปรับองค์กรความมั่นคงให้ทันสมัยก็เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ หลังจากมีการปรับลดค่าใช้จ่ายทางทหารลงมาเป็นเวลาหลายปี ประเทศไทยต้องมีมาตรการปรับระบบการป้องกันประเทศให้ทันสมัยเพื่อรับมือความท้าทายด้านความมั่นคงใหม่ๆ ในปัจจุบัน” 

ด้วยความต้องการขั้นปฐมภูมิเรื่องทำให้คนไทยหายจน ดร.ทักษิณ เห็นความจำเป็นของการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีพรมแดนครอบคลุมแทบทุกเรื่องและแทบทุกมิติอย่างไม่เคยปรากฎในนายกคนไหนจากอดีตถึงปัจจุบัน

(ข้อมูลจาก (ข้อมูลจากหนังสือ THAILAND ON THE WORLD STAGE : THAKSIN SHINAWATRA’S SPEECHES 2003-2008 : ประเทศไทยบนเวทีโลก สุนทรพจน์ของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร พ.ศ.2546 -2551 )