สัญญาประชาคมของพรรคไทยรักไทย “หัวใจคือประชาชน” - Thaksin Official


ภาพถ่าย ดร. ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี พ.ศ. 2544

พรรคการเมืองไทยในอดีตมักตั้งชื่อเป็นภาษาบาลีสันสกฤตเพื่อแสดงความขรึมขลัง หรือไม่อย่างนั้นก็อิงคำกว้างๆ จนปราศจากความหมายที่ชัดเจน  แต่ดร.ทักษิณ เลือกที่จะให้พรรคการเมืองซึ่งตัวเองเป็นผู้ก่อตั้งมีชื่อว่า “ไทยรักไทย”  ซึ่งเรียบง่าย มีพลัง รวมทั้งสื่อสารวิสัยทัศน์บางอย่างทางสังคม 

ในงานเปิดตัวพรรคอย่างเป็นทางการครั้งแรก เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2541 ดร.ทักษิณ อธิบายว่าพรรคไทยรักไทยหมายถึง “การรวมพลังความรักและความเสียสละของคนไทย เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์และฟื้นฟูประเทศไทย” โดยพรรคมีคำขวัญว่า  “คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อไทยทุกคน”

ด้วยปณิธานในการสร้างพรรคเพื่อหลอมรวมความคิดใหม่ๆ และรวมพลังคนไทยทุกคน ดร.ทักษิณ ประกาศตั้งแต่ต้นว่าพรรคไทยรักไทยมีจุดยืนในการทำการเมืองแบบสร้างสรรค์ ไม่เล่นการเมืองแบบทำลายล้าง มุ่งผลักดันนโยบายที่ดีสู่การปฏิบัติ และปวารณาตัวเป็นทางเลือกใหม่ของสังคม (**1)

สังคมไทยช่วงที่ ดร.ทักษิณ ก่อตั้งพรรคไทยรักไทยเป็นสังคมที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงคำขวัญ “คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อไทยทุกคน” จึงสอดคล้องกับความปรารถนาของสังคม และขณะเดียวกันก็เป็นเข็มทิศชี้นำการสร้างนโยบายพรรคผ่านกระบวนการคิดและองค์ความรู้ที่ประชาชนเป็นศูนย์กลาง

ด้วยจิตวิญญาณในการก่อตั้งซึ่งถูกแปลงเป็นยุทธศาสตร์การทำงานอย่างแม่นยำ พรรคไทยรักไทยได้รับความนิยมจากประชาชนทันทีที่ลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2544 จนได้ ส.ส. 248 คน จากส.ส.ทั้งหมด500 คน และเป็นรัฐบาลแรกที่บริหารประเทศครบวาระ 4 ปี

(**2)

แม้พรรคไทยรักไทยจะประสบความสำเร็จในการทำงานการเมืองอย่างรวดเร็ว ดร.ทักษิณ และพรรคไทยรักไทยกลับไม่ยุติการพัฒนานโยบายพรรคที่เป็นประโยชน์และตอบสนองความต้องการของประชาชน เช่นเดียวกับการปรับปรุงการบริหารราชการในฐานะหัวหน้ารัฐบาล

ดร.ทักษิณ มีความเชื่อว่า “คู่แข่งของพรรคไทยรักไทย คือพรรคไทยรักไทยเอง ฉะนั้น ต้องทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวาน ทำพรุ่งนี้ให้ดีกว่าวันนี้ ตามหลักของ Social Contract Theory หรือสัญญาประชาคม ซึ่งถ้ายึดหลักนี้ คู่แข่งที่แท้จริงก็คือเราเอง” (**3)

ในงานสัมมนาสมาชิกพรรคไทยรักไทย เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2546 ดร.ทักษิณ กล่าวปาฐกถาเรื่อง “สถานการณ์การเมืองของประเทศ: ความพร้อมในการเข้าสู่การเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทย” พูดถึงการพัฒนาแนวคิด  “คิดใหม่ ทำใหม่” สู่การ “คิดอีก ทำอีก” เพื่อความสุขของคนไทย

“คราวที่แล้ว เราบอก คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อคนไทยทุกคน คราวนี้เราจะต้องคิดอีกทำอีก เพื่อความสุขของคนไทยทั้งแผ่นดิน ฉะนั้นผมต้องทำอีก เพราะผมยัง Fresh อยู่

“วันนี้เราต้องคิดว่าจะทำนโยบายอะไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน เพราะนโยบายไปจากส่วนกลาง ถึงแม้จะประชาชนรับรู้และเห็นด้วย แต่กว่าที่จะมีผลกับประชาชนโดยตรง มันต้องผ่านกระบวนการ ท่านทั้งหลายมีหน้าที่ไปติดตามให้ทุกนโยบายไปถึงประชาชนให้ได้มากที่สุด” (**3)

เมื่อรัฐบาลพรรคไทยรักไทยบริหารประเทศครบ 4 ปี และนำเสนอตัวเองในการเลือกตั้งวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2548 ประชาชนจึงลงคะแนนเลือกพรรคท่วมท้นจนมี ส.ส.เป็นอันดับหนึ่งถึง 377 เสียง จากทั้งหมด  500 เสียง และจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ (**2)

วิวัฒนาการของความคิดเรื่อง “คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อไทยทุกคน” สู่แนวคิด  “คิดอีก ทำอีก เพื่อความสุขของคนไทย” ทำให้ ดร.ทักษิณ บรรลุข้อสรุปว่าหลักการของพรรคไทยรักไทยได้แก่ “ไทยรักไทย หัวใจคือประชาชน”

ในการประชุมใหญ่สามัญของพรรคไทยรักไทยเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ..2547  ดร.ทักษิณ ตั้งคำถามกับผู้ร่วมประชุมพรรคว่า “พวกเรามาอย่างไร?” จากนั้นก็ชวนให้ทุกคนเห็นว่า “เรามาจากประชาชน” และ “เราเป็นพรรคแรกที่ประชาชนเลือกจนมี ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งในสภา”

ด้วยบริบทดังนี้ ดร.ทักษิณเสนอให้พรรคไทยรักไทยกตัญญูต่อประชาชนผู้มอบความไว้วางใจให้พรรคตลอดไป  (**4)  นั่นก็คือ

“พวกเราวันนี้ สมาชิกทั้งหลาย ผู้บริหารพรรค ได้รวมตัวมาเป็นคนคนหนึ่งชื่อ “ไทยรักไทย” ท่านทั้งหลายคือทุกเซลล์ของร่างกายมนุษย์ชื่อไทยรักไทย แต่มนุษย์ชื่อไทยรักไทยเหล่านี้จะเดินไม่ได้ เพราะไม่มีจิตวิญญาณ ซึ่งจิตวิญญาณของพรรคไทยรักไทยคือพี่น้องประชาชนทั้งแผ่นดิน”

“ทุกลมหายใจที่เราทำงานไป คิดไป เราต้องคิดเพื่อพี่น้องประชาชนทั้งแผ่นดิน ไม่ใช่คิดเพื่อเรา นโยบายทุกนโยบายของพรรคไทยรักไทย ไม่มีการคิดเพื่อตัวเอง เราคิดแต่เพื่อประชาชนและประเทศชาติบ้านเมือง”

ดร.ทักษิณ ชินวัตร ย้อนอดีตว่าพรรคไทยรักไทยลงพื้นที่ไปพบประชาชนช่วงที่มีการยกร่างนโยบาย จากนั้นพรรคก็เขียนนโยบายจนเสร็จแล้วลงพื้นที่เพื่อกลับไปสอบถามความเห็นประชาชนต่อ การมีส่วนร่วมของประชาชนจึงทำให้พรรคไทยรักไทยสร้างนโยบายรัฐบาลซึ่งตรงจุดที่สุดได้ตลอดเวลา

“คนไม่เข้าใจนึกว่าเราอาจจะทำงานโดยพลการ ความจริงเราถามประชาชนอยู่ตลอดเวลา

ดร.ทักษิณ เคยแสดงวิสัยทัศน์ต่อไปว่า

“ใครจะมาทำงานการเมือง  แล้วใจไม่รักประชาชน อย่ามาทำการเมือง โดยเฉพาะอย่ามาอยู่ในไทยรักไทย เพราะปรัชญาของประชาธิปไตยบอกชัดเจนว่าเราต้อนรับคนทุกกลุ่มไปรับใช้ประเทศชาติและประชาชน ไม่ใช่การยึดเป็นอาชีพ จนลืมประชาชน”  (**4)

ดร.ทักษิณ ชินวัตร ทิ้งท้ายเรื่องนี้เอาไว้ว่า “เราจะยึดมั่นการเป็นพรรคการเมืองที่มีประชาชนเป็นหัวใจ เราจะเป็นพรรคที่เต็มไปด้วยเมตตาธรรม และเราจะหล่อหลอมวัฒนธรรมของเราให้ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีประชาชนเป็นหัวใจ เป็นจิตวิญญาณของเรา” (**5)

อ้างอิง

**1 – หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 15 กรกฎาคม 2541 หน้าที่ 5

**2 – หนังสือ “ทักษิณ ชินวัตร ชีวิตและงาน” พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2558 หน้าที่ 118

**3 – หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 28 ธันวาคม 2546 หน้าที่ 1 , 2

**4 – หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 1 มีนาคม 2547 หน้าที่ A6

**5 – หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 1 มีนาคม 2547 หน้าที่ 3