รดน้ำที่ราก วิธีคิดที่มีต่อท้องถิ่นและเกษตรกร - Thaksin Official


ภาพถ่าย ดร. ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี พ.ศ. 2544

คนไทยถูกปลูกฝังว่าเกษตรกรคือกระดูกสันหลังของประเทศ  แต่ความจริงที่ทุกคนรับรู้คือกระดูกสันหลังของชาติในชีวิตจริงอยู่ในสภาพหนังหุ้มกระดูก ชาวนาคืออุปมาของความจน เกษตรกรรมคือสัญลักษณ์ของความลำบาก และแทบไม่มีครอบครัวคนชั้นกลางไหนสอนให้ลูกอยากเป็นชาวนา

 

ตรงกันข้ามกับแนวคิดว่าเกษตรกรจนเพราะไม่พัฒนาตัวเอง เกษตรกรและนักวิชาการจำนวนมากค้นพบว่านโยบายรัฐคือเหตุแห่งความจนทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่นรัฐบาลกดราคาข้าวเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานและคนเมืองได้กินข้าวถูกตลอดไป การพัฒนามุ่งให้ภาคอุตสาหกรรมเติบโตยิ่งกว่าภาคเกษตร  ฯลฯ

 

ความยากจนของเกษตรกรทำให้รัฐบาลหลายชุดมองชาวนาชาวไร่เป็นแค่ “ฐานเสียง” สำหรับการให้ความช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ แลกกับ “คะแนนเสียง”  แต่ไม่ได้มองว่าชาวนาชาวไร่คือ “ฐานทางนโยบาย” ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจจนรัฐจำเป็นต้องออกนโยบายเพื่อยกระดับชีวิตเกษตรกรโดยตรง

 

ดร.ทักษิณ ได้ชื่อว่าเก่งด้าน “ช่วยคนจน” จนเป็นภาพลักษณ์ที่ติดตัวถึงปัจจุบัน แต่ที่จริงความเก่งของดร.ทักษิณ มาจากการสลัดมุมมองว่าเกษตรกรเป็น “คนจน” ที่รอความช่วยเหลือจากรัฐบาล แล้วมองว่าเกษตรกรคือ “ตลาดภายในประเทศ” จนเกิดนวัตกรรมด้านนโยบายเพื่อให้เกษตรกรกินดีอยู่ดี

 

ในปาฐกถาเปิดการประชุมเรื่อง “กลไกชุมชนในการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรหลังการพักชำระหนี้” ซึ่งจัดขึ้นโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ ปี 2545 ดร.ทักษิณ กล่าวว่า

 

‘สุภาษิตจีนเขามีมาเป็นพันปี เจ็กล้งไป่แป๊ะเซี้ยง  หมายถึงว่าถ้าเกษตรกรตาย 1 คน พ่อค้าตายเป็นร้อย  เพราะเศรษฐกิจเริ่มจากรากหญ้าขึ้นมายอดบน  เปรียบเสมือนรดน้ำต้นไม้ต้องรดที่ราก  แล้วความเขียวจะขึ้นไปถึงยอดแล้วมันจะมีผล เช่นเดียวกัน ถ้าเกษตรกรจน พ่อค้าไม่มีทางจะขายของได้’

ด้วยมุมมองของ ดร.ทักษิณ แบบนี้ นโยบายรัฐต่อเกษตรกรได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง  บทบาทรัฐไม่ได้มีแค่แจกเงินหรือปลากระป๋องแก่เกษตรกรยากจน แต่รัฐต้องเห็นเกษตรกรผ่านวิธีคิดเรื่อง“เศรษฐกิจรากหญ้า” ที่เศรษฐานะของเกษตรกรจะทำให้เศรษฐานะของประเทศดีขึ้นอย่างชัดเจน

 

ตรงกันข้ามรัฐบาลที่เห็นเกษตรกรเป็นตาสีตาสาแบมือขอทาน รัฐบาลดร.ทักษิณ เห็นคุณค่าของภาคเกษตรจนผลักดันนโยบายเพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนโยบายอย่างพักชำระหนี้เกษตรกร-กองทุนหมู่บ้าน-หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์

 

ทันที ดร.ทักษิณ ชนะการเลือกตั้งจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคไทยรักไทยได้ตามความต้องการประชาชน รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณ 4,628 ล้านบาทให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร 951,000 คน  ควบคู่ไปกับโครงการพักชำระหนี้ 3 ปี  แทบจะในทันที

 

ขณะที่ฝ่ายตรงข้าม ดร.ทักษิณ โจมตีว่านโยบายนี้เป็นประชานิยมที่ทำให้ประชาชนขาดวินัย ดร.ทักษิณ กลับยืนยันว่าการพักชำระหนี้คือการต่ออายุให้เกษตรกรทำมาหากินโดยไม่ต้องกังวลเรื่องการจ่ายหนี้ภาครัฐ ผลก็คือเกษตรกรจะตั้งตัวได้เร็วขึ้น ไม่ใช่หาได้เท่าไรก็ต้องมาใช้หนี้รัฐบาล

 

นอกจากรัฐบาลของ ดร.ทักษิณ จะให้ความสำคัญกับการปลดหนี้เพื่อแบ่งเบาภาระเกษตรกร ดร.ทักษิณ ยังตั้งเป้าหมายว่าต้องการให้เกษตรกรมีรายได้อย่างน้อยครอบครัวละ 10,000 บาท ติดต่อกัน 1 ปี เท่ากับมีรายได้ปีละ 120,000 บาท โดยใช้ความรู้ใหม่ๆ  ร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่นและการจัดการ     

 

ดร.ทักษิณ กล่าวในการเปิดประชุมของกระทรวงเกษตรครั้งนั้นไว้อย่างจับใจว่า

 

‘เราอยู่ในภาวะสงครามเศรษฐกิจ  คนจนเปรียบเสมือนทหารที่บาดเจ็บ ถ้าเราไม่ให้เขาหายเจ็บ  เมื่อออกรบ เราจะเอาทหารที่ไหนมารบให้ชนะได้สักที’

 

เกษตรกรคือหัวใจของประเทศไทย  และทั้งสองอย่างคือหัวใจของ ดร.ทักษิณ ตลอดเวลา