มีคนรักต้องมีคนเกลียด ปรัชญาบริหารคนแบบ ดร.ทักษิณ - Thaksin Official


ภาพถ่าย ดร. ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี พ.ศ. 2544

ดร.ทักษิณ เป็นนายกจากการเลือกตั้งที่มีประชาชนลงคะแนนสูงที่สุดคนหนึ่งในสังคมไทย รัฐบาลพรรคไทยรักไทยจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความรุ่งเรืองของระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยไทยช่วง พ.ศ.2540- 2549 ที่ถึงจุดหนึ่งก็ถูกฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยชุมนุมและโจมตีอย่างรุนแรง

ท่ามกลางการต่อต้านรัฐบาลจากการเลือกตั้งด้วยม็อบและข้อมูลข่าวสารปลุกปั่นให้ดร.ทักษิณ ยุติบทบาททางการเมือง ดร.ทักษิณ ตัดสินใจประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2549 เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนเจ้าของประเทศตัดสินว่าต้องการให้ใครเป็นผู้นำประเทศจริง

ดร.ทักษิณประกาศยุบสภาในตึกสันติไมตรีซึ่งวันนั้นแน่นขนัดไปด้วยผู้คนที่มาจากทุกภาคส่วน  ทุกคนในทำเนียบรัฐบาลตั้งใจฟังว่านายกที่มีประชาชนลงคะแนนเลือกมากที่สุดในประเทศจะแถลงอะไรในการยุบสภา เช่นเดียวกับประชาชนที่รับชมผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย 

แม้จะปฏิบัติหน้าที่รัฐบาลรักษาการในระยะเวลาดังกล่าวท่ามกลางการต่อต้านทางการเมือง ดร.ทักษิณ ก็ยังคงยืนยันให้ข้าราชการวางตัวเป็นกลางในช่วงเตรียมการเลือกตั้ง รวมทั้งชี้แจงแนวทางการปฏิบัติงานต่อรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

ดร.ทักษิณ ตระหนักดีว่าประชาชนอยากจะเห็นประเทศเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี และข้าราชการประจำในกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ถือเป็นกลไกในการเปลี่ยนประเทศให้ดีขึ้น แต่ความพยายามดังกล่าวก็มีทั้งคนที่เข้าใจและไม่เข้าใจ รวมทั้งมีคนที่แข็งขืนไม่ทำตามนโยบาย 

ดร.ทักษิณกล่าวว่า

“5 ปีของการทำหน้าที่ของผมที่ผ่านมา มีคนรัก คนเฉยๆ และคนเกลียด มันเป็น Syndrome ของการอยู่นาน มันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ผมอยากจะบอกข้าราชการทุกท่านว่า ช่วงนี้เป็นช่วงสำคัญของประเทศ  ผมอยากจะขอให้ราชการทุกคนที่รักผม  เรื่องเลือกตั้ง  ขอให้ท่านยึดกติกาบ้านเมือง  อย่าแสดงความรักเป็นพิเศษแล้วมาเดือดร้อน   ขอให้วางตัวให้เหมาะสมกับการเป็นข้าราชการประจำ”

ดร.ทักษิณยืนยันว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2549 เป็นการสร้างเงื่อนไขบางอย่างโดยคนกลุ่มที่ไม่พอใจรัฐบาล โจมตีว่าเป็นประชานิยม เป็นนายทุน ทั้งที่ความจริงแล้วรัฐบาลไทยปฏิเสธการลงทุนจากต่างประเทศและการแข่งขันในเวทีโลกไม่ได้ เพราะโลกวันนี้เชื่อมต่อกันแบบไร้พรมแดน  

ดร.ทักษิณ มองว่าความขัดแย้งเกิดขึ้นเพราะประชาชนบางส่วนได้ข้อมูลด้านเดียวจากฝ่ายต่อต้านรัฐบาล รัฐจึงต้องให้ข้อมูลที่ครบถ้วนกับประชาชนเพื่อให้ทุกฝ่ายพิจารณาด้วยใจเป็นธรรมจนมองเห็นว่ารัฐบาลทำทุกอย่างเพื่อให้ประเทศไทยเคียงบ่าเคียงไหล่สิงคโปร์, ไต้หวัน และ มาเลเซีย

ตรงข้ามกับผู้นำประเทศที่มองคนวิพากษ์วิจารณ์เป็นศัตรู ดร.ทักษิณ ถือว่าการตักเตือนโดยคนกลุ่มต่างๆ เป็นเรื่องปกติ ต่อให้จะเป็นการตักเตือนจากผู้ใต้บังคับบัญชาก็ตาม ตัวอย่างเช่น ดร.ทักษิณ เคยพูดถึง ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า

‘ท่านปลัดความคิดดี  แต่พูดตรงเผงเลย  บางทีก็พูดไม่เข้าหูเหมือนกัน  ไปอยู่บางที่ คนไม่ค่อยรับ  แต่ผมชอบ  ผมชอบคนมีความคิดสร้างสรรค์  ดีกว่าพวกมานั่งบอกว่าดีครับนาย  ดีครับท่าน  ให้คิดอะไรคิดไม่เป็น พวกนี้เอาลูกชิ้นเข้าปาก ถ่ายออกมาก็เป็นลูกชิ้น ไม่ย่อย  พวกนี้ไม่ไหว’ *

ดร.ทักษิณ เล่าต่อไปว่า

‘ผมมีเลขาคนหนึ่ง  อยู่กับผมมา 10 กว่าปี  ตอนนั้นเขาเคยคิดจะเติบโตสาย BU ผมก็ส่งไปอยู่ BU คนไม่รับ  เพราะเป็นคนพูดตรงมาก  ผมก็เอากลับมาอยู่กับผม  ขากล้าเตือนผม  ทุกวันนี้อยู่กับผมมา 10 กว่าปีแล้ว  เพราะว่าเป็นคนที่กล้าพูดกล้าเตือน  ถ้าเราห้ามคนพูด คนเตือน  เราก็จะเริ่มไม่รู้อะไร’

ขณะที่ข้าราชการและนักการเมืองหลายคนมองว่า ดร.ปลอดประสพก้าวร้าว ไม่เคารพผู้บังคับบัญชา ดร.ทักษิณกลับแต่งตั้งดร.ปลอดประสพเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในปี 2548   และได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในเวลาต่อมา 

ความเป็นผู้นำที่ยอมรับความเห็นต่าง การวิพากษ์วิจารณ์ที่ตรงไปตรงมา ผู้ใต้บังคับบัญชาที่กล้าคิดและกล้าเตือน คือคุณสมบัติที่ทำให้ ดร.ทักษิณ สร้างความสมดุลข้อมูลข่าวสารได้หลายด้านก่อนที่จะตัดสินใจสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ

  • คำบรรยายดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่สถาบันฝึกอบรมผู้นำ มูลนิธิพลตรีจำลอง ศรีเมือง จ.กาญจนบุรี วันที่ 1 พฤศจิกายน 2545