“ผู้นำ” ในนิยามของ ดร.ทักษิณ - Thaksin Official


ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทย ดร.ทักษิณ ทำงานเชิงรุกตั้งแต่วันแรกที่รับตำแหน่งสำคัญนี้ 

ทุกครั้งที่เขาได้หารือข้อราชการกับทีมงาน ซึ่งประกอบไปด้วยคณะรัฐมนตรี ข้าราชการการเมือง  ข้าราชการทั่วประเทศ  ดร.ทักษิณ มักจะขอให้ทุกคนที่ทำงานร่วมกัน  “คิดนอกกรอบ” และควรเปิดมุมมองการทำงานของทุกคนให้กว้างขึ้น  หลายมิติมากขึ้น  ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้ ไม่มีเรื่องใดที่ผิดหรือถูก  ตราบใดที่ข้อคิดเห็นนั้นมีประโยชน์

แม้จะเป็นนายกรัฐมนตรี  หน้าที่หลักคือการบริหารประเทศ  มีที่นั่งทำงานหลักอยู่ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล  แต่สถานที่ทำงานส่วนใหญ่ของเขากลับไม่ใช่ที่นั่น

เวลาส่วนมากของเขาถูกทุ่มเทไปกับการลงพื้นที่ทำงานร่วมกับข้าราชการทุกภาคส่วนทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค  เขาไปร่วมประชุม หารือ บรรยายพิเศษให้กับ “ทีม”  

ทีมของ ดร.ทักษิณ  คือ ข้าราชการทุกภาคส่วน เรื่อยไปจนถึงการบรรยายในสถานศึกษา  ไม่ใช่การบรรยายให้เหล่าครูอาจารย์ฟังเท่านั้น  แต่คือการเข้าไปถึงห้องเรียนเพื่อบรรยายพิเศษให้กับนักเรียนในหลายระดับชั้น

เดือนพฤศจิกายน ปี 2545    ดร.ทักษิณ บรรยายพิเศษให้กับนักเรียนโรงเรียนผู้นำและสมาชิกสภาอุตสาหกรรม ที่สถาบันฝึกอบรมผู้นำ มูลนิธิพลตรีจำลอง ศรีเมือง ต.พุประดู่ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี  แม้คนในห้องจะเป็นเยาวชนและผู้นำชุมชนเป็นส่วนใหญ่ แต่สิ่งที่เขาบรรยายนั้น เสมือนการเตรียมความคิดของทุกคนให้พร้อม เพื่อให้เกิดภาวะผู้นำที่ต้องอยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่แตกต่างออกไป เช่น การนอนในมุ้ง  บ้านมุงจาก หรือกระต๊อบ  ท่ามกลางป่าเขา ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใด ๆ  นอกจากห้องน้ำ และที่นอนฟูกธรรมดา ความหมายที่แฝงในนั้นคือ ผู้นำจะต้องอดทนต่อทุกสภาพแวดล้อมได้

เขาได้เล่าถึงคุณสมบัติของการเป็นผู้นำที่ไม่ใช่ผู้นำที่มีพลังทำงานเพียงอย่างเดียว  แต่ต้องใช้หลักธรรมผนวกผสมเข้ากับความคิดเพื่อความก้าวหน้า  เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่หมุนไปทุกวันด้วย

“การเป็นผู้นำต้องไม่ยึดติด อย่าเกิดกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ  มีสติ ปัญญา เมื่อทำผิดก็ไม่พลาดมาก  ที่สำคัญต้องปล่อยวาง มีความสร้างสรรค์ และคิดนอกกรอบ”

เขาเห็นด้วยกับทฤษฎีของ ดร.เดอร์โบโน่  ที่ระบุไว้ว่า หากไม่มีใครกล้าคิดนอกกรอบ จะทำให้เราจมอยู่กับเรื่องเดิม ๆ ดังนั้นในการบริหารงาน  ดร.ทักษิณ จะนำทีม Operation Research เข้ามาช่วยดูเนื้อหาและต้นตอของสิ่งที่อยากจะแก้ไขหรือขับเคลื่อน  เนื่องจากทีมนี้ประกอบไปด้วยคนหลากหลายทางวิชาการ ที่สามารถแชร์ความคิดเห็นหลาย ๆ ด้าน  เป็นการมองต่างมุมของผู้เชี่ยวชาญหลายคน  เมื่อหันหน้าเข้าหากันแล้ว จะได้ตรงกลางที่เป็นการมองทั้งระบบได้อย่างลงตัวและรอบด้าน

“ความสามารถของผู้นำ คือความสามารถในการปลดปล่อยพลังสมองของคนในองค์กร ยิ่งปลดปล่อยพลังสมองได้มากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นผู้นำที่สำเร็จ  เพราะสมองของผู้นำคนเดียว ไม่เพียงพอกับการแก้ปัญหา ต้องใช้สมองของคนทั้งองค์กร”    

อีกเหตุการณ์ที่เห็นได้ชัดถึงการปลูกฝังแนวคิดของความเป็นผู้นำในแบบของ ดร.ทักษิณ ที่เน้นการมีส่วนร่วมของทีมเป็นหลัก และการมีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ได้ถูกนำมาใช้ในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  และก่อตั้งแนวคิด “ผู้ว่า CEO” ขึ้น

ผู้ว่าราชการจังหวัด คือชื่อจริง ส่วนผู้ว่า CEO คือชื่อเล่นที่ ดร.ทักษิณ ตั้งขึ้น เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ทำหน้าที่ในบริบทที่ต่างไปจากเดิม  สิ่งที่สำคัญของแนวคิดนี้  คือการบริหารงานที่ไม่กระจุกอยู่ที่คน ๆ เดียวเสมอไป  ต้องปรับกระบวนการทำงานใหม่อีกครั้ง  โดยผู้ว่า CEO จะต้องไม่รอรับคำสั่งจากส่วนกลางแล้วจึงค่อยทำงาน   และให้เปลี่ยนรูปแบบการทำงานมาเป็น ‘ประธานคณะผู้บริหารของจังหวัด’  มีหน้าที่บริหาร วางแผน คอยติดตามงาน และคอยให้กำลังใจทีมงานอย่างแข็งขัน

“การบริหารงานแบบผู้ว่าฯ CEO ต้องการเห็นเจ้าภาพที่มองทุกตารางนิ้วในการกำกับดูแลของตัวเอง  เป็นภารกิจหน้าที่ที่ต้องดูแลจัดการแก้ไข ป่าไม้ถูกทำลาย  บอกว่าไม่รู้เรื่องเพราะอยู่ไกล  คำตอบอย่างนั้นไม่ใช่คำตอบของโลกยุคใหม่”

ความสำคัญของผู้นำในทุกระดับ จะต้องเป็นคนที่มีความรอบรู้ในทุกด้าน เนื่องจากโลกในยุคปัจจุบันเป็นโลกของการหลั่งไหลของข่าวสาร  ทุกคนมีความรู้เทียบเท่ากันหมด ดังนั้นหากผู้นำในโลกยุคนี้กล่าวขึ้นว่า “ไม่รู้” อาจจะทำให้องค์กรมีความสั่นไหว

“การเป็นผู้นำต้องเข้าใจและตามทันคำว่า Globalization คือยุคที่มี Free flow มีการไหลอย่างเสรีของข้อมูลข่าวสาร  เพราะฉะนั้นอะไรเกิดขึ้นที่ประเทศไทยเดี๋ยวนี้  รู้ไปทั่วโลก เรื่องใหญ่ ๆ รู้ไปทั่วโลก อะไรเกิดขึ้นทั่วโลกมุมไหนของโลก  เราก็รู้ในไม่กี่นาที  ไม่กี่ชั่วโมง  ถ้าผู้นำไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้   เสร็จ”

ดร.ทักษิณ อธิบายความหมายของ Globalization ออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่

Free flow Information 

Free flow of Goods 

Free flow of People

Free flow of Capital

เกือบ 20 ปีแล้วที่ ดร.ทักษิณ พูดถึง Globalization  ที่จะเกิดขึ้นในโลก  มาถึงวันนี้  สิ่งที่เขาพูดกลายเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมโลกอย่างขาดไม่ได้  

“ความเป็นผู้นำนอกจากมีคุณสมบัติใฝ่หาความรู้ เท่ากันการเปลี่ยนแปลงและมีวิสัยทัศน์แล้ว ยังต้องเชี่ยวชาญในการบริหารให้คนที่เราเลือกเข้ามาหรือผู้ตาม ปฏิบัติไปสู่จุดที่ผู้นำคาดหวังด้วย”

ทั้งหมดคือนิยามของคำว่า “ผู้นำ” ในแบบของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร