ปาฐกถายูเนสโก : บูรณาการการศึกษากับการแก้ปัญหาความยากจน - Thaksin Official


ภาพถ่าย ดร. ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี พ.ศ. 2548

เมื่อพูดถึงรัฐบาลพรรคไทยรักไทย สิ่งที่ทุกคนนึกถึงทันทีคือนโยบายแก้ปัญหาความยากจนให้หมดไปจากประเทศ ห้าปีที่ประชาชนมอบความไว้วางใจให้ ดร.ทักษิณ เป็นนายกคือห้าปีที่ประเทศไทยมีรัฐบาลซึ่งทำงานภายใต้ยุทธศาสตร์ส่งเสริมรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนตลอดเวลา

ดร.ทักษิณ มองความยากจนเชื่อมโยงกับการศึกษาและการขาดแคลนโอกาสทางสังคม  ในสุนทรพจน์ซึ่ง ดร.ทักษิณ กล่าวต่อสมัชชาใหญ่องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)  เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2548 จึงแสดงความเห็นนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า

“สังคมวันนี้จำเป็นต้องมี “การศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับทุกคน” การศึกษาจะนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของประชาชน ประชาชนที่เข้มแข็งและมีความรู้คือทุนทางสังคมที่มีพลังในการต่อสู้กับความยากจนและความสุดโต่งทางการเมือง ซึ่งกำลังขยายตัวออกไปเป็นวงกว้างออกไป”

“ในมุมมองของผม ประเทศร่ำรวยหรือยากจนล้วนเผชิญความท้าทายนี้ และยูเนสโกคือทางออก เพราะตลอด 60 ปีที่ผ่านมา ยูเนสโกให้การศึกษาความคิดที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ รวมทั้งสำนึกเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม  เราต้องชักนำผู้คนเข้าหากันแทนที่จะแบ่งแยกกัน”

แน่นอนว่าทุกวันนี้คำว่า “ความหลากหลายทางวัฒนธรรม”  หรือ “พหุนิยมทางวัฒนธรรม” เป็นเรื่องที่สังคมไทยพอจะคุ้นเคย แต่ในบริบทที่ ดร.ทักษิณ พูดเรื่องนี้ต่อองค์กรระดับโลกเมื่อสิบห้าปีก่อน แนวคิดนี้ยังไม่แพร่หลายนัก วิสัยทัศน์ข้อนี้จึงแสดงความล้ำสมัยของดร.ทักษิณ อย่างชัดเจน

เพื่อจะสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับทุกคน ดร.ทักษิณเสนอว่าการศึกษาในระบบต้องเปลี่ยนแปลงหลักสูตรโดยเร่งด่วน, ขยายการศึกษานอกระบบให้เติบโตและครอบคลุมการศึกษาตลอดชีวิต รวมทั้งใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาทั้งในและนอกรูปแบบตลอดเวลา

ดร.ทักษิณพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงการศึกษาในระบบไว้อย่างชัดเจนว่า

“การศึกษาในระบบไม่ควรมุ่งแค่ให้ผู้เรียนมีเครื่องมือเพื่อความอยู่รอด แต่ต้องให้ต้นทุนเพื่อฝ่าฟันการแข่งขันอันดุเดือดของทุนนิยมโลก การให้การศึกษาเด็กในโรงเรียนยังไม่พอ เราต้องดูแลให้เด็กเติบโตได้ในโลกที่เป็นจริงผ่าน  “การเรียนรู้บนฐานกิจกรรม (activity – based – learning) “ ซึ่งส่งเสริม “การเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ”

สำหรับการศึกษานอกระบบที่เชื่อมโยงกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ดร.ทักษิณ คิดถึงการสร้างสังคมให้คนมีโอกาสจะเพิ่มพูนความรู้และทักษะได้ทุกที่และทุกเวลา  การศึกษาในมุมนี้จึงหมายถึงห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี่และศูนย์วัฒนธรรมสาธารณะ ซึ่งเป็นสิ่งทีประเทศกำลังพัฒนาแทบไม่มีเลย

ดร.ทักษิณ พูดถึงความสำคัญของการเรียนรู้ซึ่งนำไปสู่การเติบโตของชีวิตและวัฒนธรรมเอาไว้ว่า

“ตอนที่เกิดสึนามิในวันที่ 26 ธันวาคม ชาวเลเร่ร่อนส่วนหนึ่งในภาคใต้ของไทยหลีกเลี่ยงหายนะ โดยอาศัยความรู้ที่สืบทอดกันมาปากต่อปากจากรุ่นสู่รุ่น เด็กหญิงชาวอังกฤษตัวเล็กๆ ช่วยชีวิตคนนับสิบได้เพราะเธอเคยได้เรียนรู้เรื่องสึนามิในโรงเรียน จึงตะโกนให้ผู้คนหลบหนีเอาตัวรอดได้ทัน”

“ในประเทศไทย ผมได้สร้างอุทยานการเรียนรู้ (TK park) เพื่อเป็นที่สำหรับอ่านหนังสือ ทำกิจกรรม และฝึกฝนทักษะประกอบการ อุทยานนี้ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว แหล่งการศึกษานอกระบบเป็นที่ต้องการของเด็กๆ อยู่เสมอ เราจึงวางแผนสร้างอุทยานการเรียนรู้อีกหลายแห่งทั่วประเทศ”

ในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาทั้งในและนอกระบบ ดร.ทักษิณเห็นว่าภารกิจข้อแรกคือขจัดช่องว่างด้านการเข้าถึงเทคโนโลยี ระยะทางต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษา และเราจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์และการเรียนรู้ผ่านดาวเทียมให้มากกว่าที่ผ่านมา

ในยุคสมัยที่โทรศัพท์เคลื่อนที่และทีวีดาวเทียมเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย ดร.ทักษิณมองว่าโลกกำลังเชี่อมต่อเป็น “หมู่บ้านโลก” ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารคือเครื่องมือเพื่อช่วยให้ประชาชนยกระดับตนเองในแง่ของการเรียนรู้และการค้าขายแลกเปลี่ยนต่อไป 

มองในระยะยาวแล้ว ดร.ทักษิณ ตระหนักว่าประเทศไทยต้องสร้างระบบเศรษฐกิจที่อาศัยความรู้เป็นฐาน  การยกระดับความรู้และทักษะของประชาชนจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น   และที่สุดแล้วภารกิจนี้เชื่อมโยงกับการปรับตำแหน่งแห่งที่ของเศรษฐกิจไทยในระบบเศรษฐกิจโลกในระยะยาว

ดร.ทักษิณ กล่าวต่อไปว่า

“การให้คนจนมีสิทธิศึกษานั้นไม่พอ เราต้องให้พวกเขามีสิทธิใช้ประโยชน์จากการศึกษาเพื่อทำการค้าในตลาดโลก การศึกษาและการเข้าถึงตลาดจึงไปด้วยกัน ทั้งสองอย่างนี้คือทางออกสำหรับการขจัดปัญหาความยากจน  ผมท้าทายให้ยูเนสโกขจัดความยากจนโดยทุ่มเททรัพยากรเพื่อสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเครื่องมือต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับการศึกษานอกระบบ”

“การศึกษาที่มีคุณภาพจะต้องชำระล้างอคติ และความกลัวในความแตกต่าง การศึกษาที่มีคุณภาพต้องบ่มเพาะวัฒนธรรมสันติภาพบนรากฐานนี้ ต้องสอนว่า แม้เราจะมีความแตกต่างในรูปโฉมและวิธีคิด เราล้วนมีสิทธิ, มีศักดิ์ศรีเท่าเทียม และเป็นสมาชิกครอบครัวมนุษย์ที่เป็นหนึ่งเดียวกัน”

วิสัยทัศน์ของ ดร.ทักษิณ เป็นแนวคิดที่ล้ำยุคในตอนนั้น  และยังคงทันสมัยจนปัจจุบัน ความเข้าใจเรื่องบูรณาการระหว่างการศึกษากับการเข้าถึงตลาดเป็นเรื่องที่ควรต่อยอดต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะการผลักดันการศึกษานอกระบบและการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชน

(ข้อมูลจากหนังสือ  THAILAND ON THE WORLD STAGE : THAKSIN SHINAWATRA’S SPEECHES 2003-2008 : ประเทศไทยบนเวทีโลก สุนทรพจน์ของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร พ.ศ.2546 -2551 )