ดร.ทักษิณ กับการรวมพลังเอเชียสู่การเป็นผู้นำโลกผ่าน ACD - Thaksin Official


ภาพถ่าย ดร. ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี พ.ศ. 2548

การเติบโตของประชาธิปไตยและเศรษฐกิจแบบเปิดทำให้ประเทศไทยยุคทศวรรษ 2530-2540  มีบทบาทสำคัญต่อการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับโลกและระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง และเมื่อถึงยุคสมัยที่ ดร.ทักษิณ เป็นนายก ไทยกลายเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งสำคัญหลายครั้งเหลือเกิน

หนึ่งในการประชุมระดับภูมิภาคที่แสดงสถานะของประเทศไทยในเวทีโลกคือการประชุมความร่วมมือแห่งเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue : ACD)  ซึ่งนานาประเทศขานรับตามแรงผลักดันของ ดร.ทักษิณ จนเกิดการประชุมครั้งแรกขึ้นที่ไทยในวันที่ 18-19 มิถุนายน พ.ศ.2545

สำหรับดร.ทักษิณแล้ว การประชุมนี้คือเวทีเสริมสร้างความแข็งแกร่งและศักยภาพของเอเชีย

โดยใช้จุดแข็งของแต่ละประเทศมาเพิ่มศักยภาพและอำนาจต่อรองร่วมกัน เอซีดีจึงต่างจากองค์กรอื่นที่มักเริ่มต้นด้วยการพูดถึงปัญหา แต่เอซีดีกลับเน้นความสำคัญของ “โอกาส” จากความร่วมมือ

ด้วยปรัชญาที่มุ่งส่งเสริมการค้าและการลงทุนซึ่งกันและกัน การประชุมเอซีดีครั้งแรกจึงมีประเทศเข้าร่วมถึง 17 ประเทศ ได้แก่ บังคลาเทศ บูรไน กัมพูชา จีน อินเดีย อินโดนีเชีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ลาว มาเลเชีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์  กาตาร์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย

ในฐานะผู้ริเริ่มแนวคิดเอซีดี ดร.ทักษิณ กล่าวถึงจุดมุ่งหมายในการก่อตั้งเอาไว้ในสุนทรพจน์ เปิดประชุมมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2545 (**1) ว่า เวทีนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นบทใหม่ของประวัติศาสตร์โลก รวมทั้งเป็นรากฐานสำหรับกรอบความร่วมมือใหม่สำหรับประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของโลก

“ประเทศไทยเป็นเพียงประเทศเล็กๆ แต่เหตุที่เรามีความกล้าหาญพอที่จะริเริ่มแนวคิดที่สำคัญนี้ ก็เพราะความคิดริเริ่มนี้มาจากหัวใจเราโดยตรง เป็นความริเริ่มที่เกิดจากการที่ผมตระหนักว่าเอเชียเคยเป็นทวีปที่มั่งคั่ง แต่ตอนนี้เราเริ่มล้าหลังภูมิภาคอื่น ทั้งที่เรามีศักยภาพอยู่มากมาย”

ในวิสัยทัศน์ของ ดร.ทักษิณ เอซีดีจะส่งเสริมให้ประเทศในทวีปเอเชียแต่ละประเทศเป็น  “ตลาดที่เข้มแข็ง” สำหรับการค้าในทวีปและการค้าโลก  และหากทำแบบนั้นได้สำเร็จ ความยากจนจะไม่เป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชียอีกต่อไป

 “ผมเชื่อมั่นเหลือเกินว่าเอซีดีอยู่ในวิสัยและกำลังของเราเพื่อผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน เราอาจจะประสบผลสำเร็จ หรือเราอาจจะประสบความล้มเหลว แต่อย่างน้อยที่สุดเราก็ได้ทดลองทำแล้ว”

ดร.ทักษิณ เปิดเผยว่าเคล็ดลับในการผลักดันให้ประเทศต่างๆ ยอมรับข้อเสนอของไทยเรื่องเอซีดีได้แก่การโทรศัพท์สายตรงถึงผู้นำประเทศอื่นๆ เพื่อพิจารณาประเด็นเหล่านี้ร่วมกัน โดยเฉพาะการที่ทวีปเอเชียเป็นทวีปเดียวที่ไม่มี Forum ที่มีสมาชิกเป็นทุกประเทศที่อยู่ในเอเชีย

ดร.ทักษิณตั้งคำถามว่าขณะที่ทวีปอื่นมีเวทีประชุมซึ่งทุกประเทศในทวีปร่วมมือกัน  เอเชียกลับทำไม่ได้ ทั้งที่มีประชากรและเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเกินครึ่งหนึ่งของโลก มีวัฒนธรรมเก่าแก่ เป็นต้นกำเนิดของทุกศาสนา และสิ่งมหัศจรรย์ของโลกส่วนใหญ่ก็อยู่ในเอเชีย

เอเชียมีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำโลก แต่ในตอนนั้น เอเชียกลับมีประชากรที่รายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ความยากจนของสหประชาชาติมากกว่าทุกทวีป  ดร.ทักษิณ เห็นว่าหนึ่งในสาเหตุของความล้าหลังนี้คือเอเชียมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศมากเกินไป  แต่ผู้นำประเทศต้องคิดไปไกลกว่าเขตแดน

“ผมเลยเริ่มต้นคุยกับประเทศใหญ่สุดคือจีน พอจีนเริ่มให้ความสนใจ ผมก็คุยกับญี่ปุ่น ญี่ปุ่นก็สนใจ ผมจึงรีบมาคุยกับอาเซียน อาเซียนให้การสนับสนุนเต็มที่ ผมรออยู่พักใหญ่จีนกับญี่ปุ่นยังไม่ตัดสินใจเต็มที่ ผมก็เลยไปอินเดีย นายกรัฐมนตรี อตล เพหารี วัชปายี ในขณะนั้นก็ตกลงทันที”

“ผมรีบมาประชุม Bo’ao Forum ที่ไหหลำ แล้วมาพบกับนายกฯ จู หรงจี ของจีน นายกฯโคะอิซุมิของญี่ปุ่นก็นั่งอยู่ด้วยกัน ผมบอกไปเลยว่า อาเซียนและอินเดียตกลงใจแล้ว นายกฯ จู หรงจี และนายกฯโคะอิซุมิก็บอกผมพร้อมกันเดี๋ยวนั้นว่า จีนและญี่ปุ่นตกลง แค่นี้ผมก็ได้ประเทศหลักๆแล้ว”

“ต่อมาเกาหลีตกลง จีนบอกผมว่าอินเดียมาแล้ว ให้เชิญปากีสถานด้วย ผมก็เชิญ เขาตอบรับทันที จากนั้นจึงชวนประเทศที่นายกฯ เป็นเพื่อนกันแถวเอเชียกลางและเอเชียตะวันตก เช่น บาห์เรน การ์ตา และทาจิกิสถาน เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ความริเริ่มของเราเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ”

จากการผลักดันของ ดร.ทักษิณ จนเกิดการประชุม ACD ครั้งแรกเมื่อปี 2545 โดยมีชาติสมาชิกเข้าร่วม 18 ประเทศ ปัจจุบัน ACD มีชาติสมาชิก 34 ประเทศ และเป็นองค์กรที่มีบทบาทเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ทวีปเอเชียอย่างต่อเนื่องตามความต้องการของ ดร.ทักษิณ ในวันนั้นที่เห็นว่า “การเดินทางหมื่นลี้ เริ่มต้นด้วยก้าวเล็กๆ ก้าวหนึ่งเสมอ