ดร.ทักษิณ ชินวัตร เชื่อมั่นว่าวิธีพัฒนามนุษย์ที่ดีที่สุดคือให้ทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาตามศักยภาพ รัฐบาลที่มี ดร.ทักษิณ เป็นผู้นำจึงพัฒนาโครงการเพื่อการศึกษาของเยาวชนอย่างกว้างขวาง ตัวอย่างเช่นโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน เพื่อเปิดโอกาสศึกษาต่อต่างประเทศให้เด็กเรียนดี แต่ขาดทุนทรัพย์จากทุกอำเภอ
นอกเหนือจากการส่งเสริมการศึกษาตามรูปแบบปกติ ดร.ทักษิณ ในฐานะนายกรัฐมนตรียังให้ความสำคัญกับการก่อตั้งหน่วยงานใหม่ๆ เพื่อขยายโอกาสเข้าถึงความรู้ โดยเฉพาะการก่อตั้งสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) ซึ่งเป็นองค์กรมหาชนเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชน
โดยปกติแล้วหน่วยงานรัฐมักคิดว่าความรู้คือการเรียนในห้องเรียน แต่ ดร.ทักษิณทำให้ความรู้เป็นเรื่องของ “องค์ความรู้” ซึ่งจะอยู่ที่ไหนก็สร้างขึ้นได้ทั้งนั้น รัฐบาลของ ดร.ทักษิณ จึงริเริ่มสร้างสถาบันความรู้ซึ่งอาจไม่เกี่ยวกับการเรียนโดยตรงก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเป็นความรู้ที่สำคัญต่อการเป็นคนคุณภาพสูงในสังคม
ภายใต้แนวคิดของ ดร.ทักษิณ ความรู้และองค์ความรู้แยกไม่ออกจากการบริหารจัดการองค์ความรู้ให้ทุกคนเข้าถึงเพื่อพัฒนาไปไม่สิ้นสุด OKMD จึงกลายเป็นสถาบันแม่บทของหน่วยงานที่คล้ายกันอย่างมิวเซียมสยาม, ศูนย์ความรู้ด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ (TCDC) และสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) (**1)
คู่ขนานไปกับการพัฒนาโอกาสทางการศึกษาและสร้างสถาบันความรู้นอกโรงเรียน ปัญหาที่ ดร.ทักษิณ ตระหนักคือเด็กไทยในชนบทเผชิญปัญหาง่ายๆ อย่างเช่นความยากลำบากในการมาเรียน ซึ่งในที่สุดทำให้เกิดปัญหาที่เด็กไทยในพื้นที่ห่างไกลเข้าไม่ถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างไม่ควรเป็น
เพื่อที่จะแก้ปัญหานี้ รัฐบาล ดร.ทักษิณ สร้าง“โครงการจักรยานยืมเรียน” สำหรับเด็กในชนบทที่บ้านอยู่ไกลโรงเรียน และ “โครงการเขียนเรียงความสำหรับเด็กและเยาวชนเพื่อขอรับทุนการศึกษา” จากเงินรายได้จากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเลขท้าย 2 ตัว และ 3 ตัวตามนโยบายรัฐบาล
“โครงการจักรยานยืมเรียน” เกิดขึ้นเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติในวันที่ 22 เมษายน 2546 จัดหาจักรยานให้นักเรียนยากจนที่มีความจำเป็นได้ยืมใช้ไปโรงเรียนตลอดช่วงเวลาที่ศึกษาอยู่ จากนั้นให้นำส่งคืนโรงเรียนเมื่อจบการศึกษา เพื่อไปหมุนเวียนให้นักเรียนรุ่นต่อไปได้ยืมใช้ในลักษณะเดียวกัน (**2)
ในพิธีมอบรถจักรยานครั้งแรก จำนวน 375,900 คัน เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2546 ตัวแทนนักเรียนชั้น ป.4-ป.6 จำนวน 900 คน สะท้อนความรู้สึกในวันนั้นว่าดีใจ ตื้นตันใจ และเด็กหลายคนถึงกับหลั่งน้ำตาเมื่อรู้ว่าประเทศไทยยังมีผู้นำที่นึกถึงความรู้สึกของเด็กและเยาวชนยากจน (**3)
ดร.ทักษิณ เห็นความสำคัญของเรื่องนี้เพราะประสบการณ์ในวัยเด็กที่เดินทางไปโรงเรียนด้วยรถจักรยานที่แม่ซื้อให้ ถึงแม้จะเป็นจักรยานมือสอง แต่ก็เป็นจักรยานคันแรกที่สร้างความดีใจให้อย่างมาก ดร.ทักษิณ จึงตระหนักว่าจักรยานมีค่าสำหรับเด็กยากจนที่มีจำนวนมากในประเทศไทย
“สมัยเป็นเด็กก็ขี่จักรยานไปโรงเรียน โดยมารดาซื้อจักรยานมือสองให้ รู้สึกตื่นเต้นดีใจ จักรยานคันแรกของเด็กมีความหมาย” ดร.ทักษิณ ชินวัตร เล่าความรู้สึกในวัยเด็กเมื่อได้รับจักรยานคันแรก พร้อมกับกล่าวถึงโครงการนี้ว่าทำโครงการนี้เพื่อให้เด็กมีโอกาสได้ไปเรียนหนังสือทันเวลา
“เด็กบางคนต้องเดิน 4 กิโลเมตร มาทำเวรไม่ทัน ถูกให้ยืนหน้าชั้น ชีวิตก็ลำบากอยู่แล้วยังมาถูกประจานเพราะว่าเวลาไม่พอ ต้องออกบ้านตั้งแต่เช้า เดิน 4 กิโลเมตร ใช้เวลา 45 นาที เด็กที่จนนั้นกว่าจะออกจากบ้าน ไหนจะต้องทำการบ้าน ต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน” (**4)
“โครงการเขียนเรียงความสำหรับเด็กและเยาวชนเพื่อขอรับทุนการศึกษา” เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ ดร.ทักษิณ และรัฐบาลพรรคไทยรักไทยทำเพื่อเด็กๆ โดยจัดสรรรายได้จากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเลขท้าย 2 ตัว และ 3 ตัว ให้กับเด็กยากจนแบบที่ไม่ปรากฎว่ามีรัฐบาลใดทำมาก่อนเลย
แม้เป้าหมายของโครงการนี้จะทำไปเพื่อช่วยเด็กยากจน แต่รัฐบาลพรรคไทยรักไทยก็เชื่อมโยงเรียงความเป็นสภาพปัญหาและข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาความยากจนด้วย เรียงความที่มีมากกว่า 4 แสนฉบับ ในปี พ.ศ.2546จึงกลายเป็น “ฐานข้อมูล”(**5) ที่ทำให้ ดร.ทักษิณ ถึงกับหลั่งน้ำตาในบั้นปลาย
ในพิธีมอบทุนการศึกษาให้เด็กที่เขียนเรียงความทั้งสิ้น 25,367คน เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2546 มีการฉายวีดีทัศน์สภาพชีวิตเด็กที่ได้ทุนการศึกษานี้ เด็กบางคนถูกพ่อแม่ทิ้งให้อยู่กับตายาย บางคนถูกทอดทิ้งหลังคลอดแล้วมีคนไปขอจากโรงพยาบาลมาเลี้ยง และบางคนมาจากครอบครัวที่มีรายได้จากการเก็บของเก่าขาย วันละประมาณ 50 บาทเท่านั้นเอง
ขณะที่รับชมวีดีทัศน์ ดร.ทักษิณ ในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธานในพิธี ถึงกับน้ำตาคลอ และเมื่อถึงช่วงเวลาที่ต้องให้โอวาทเด็กๆ ดร.ทักษิณ มีน้ำเสียงสั่นเครือ กลั้นน้ำตาไว้ไม่ได้ และมอบเงินส่วนตัวให้นักเรียนยากจนทุกคน คนละ 3,000 บาท เป็นกรณีพิเศษในบั้นปลาย (**6)
ดร.ทักษิณ กล่าวต่อหน้าเด็กยากจนในวันนั้นว่า
“ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีสองสังคม มีความแตกต่าง แต่วันนี้สังคมส่วนบนต้องเดินหน้า เพราะถ้าไม่เดินหน้า สังคมทั้งสองระบบจะตกตะกอนทั้งหมด ขณะเดียวกัน สังคมส่วนล่างก็ต้องได้รับการอุ้มชูผลักดัน
เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาล ผมได้เห็นชีวิตมามาก และยิ่งตอนไปรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง เห็นคนต่างจังหวัดที่ยากจนเดินเข้ามาฝากความหวัง จึงถือว่า เป็นภารกิจอันยิ่งใหญ่ ที่ต้องสร้างความหวังให้คนทั้งชาติ
ต้องขอขอบคุณ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้สืบสานนโยบาย โดยผลักดันโครงการนี้อย่างเป็นระบบ และเชื่อว่าน้องๆ ที่ช่วยอ่านเรียงความ อ่านไปพร้อมน้ำตา เพราะไม่คิดว่าเพื่อนร่วมชาติจะลำบาก แต่ผมคิดว่า ถึงเวลาที่เราจะช่วยกัน สิ่งที่เราทำนี้ถูกทาง”
ดร.ทักษิณ ชินวัตร กล่าวในครั้งนั้นด้วยว่าเงินล่าสุดที่ได้จากสำนักงานสลากกินแบ่งมีกำไร 500 ล้านบาท เม็ดเงินนี้สามารถดูแลเด็กยากจน 1 ปี ได้ 5 หมื่นคน แต่ที่ผ่านมาเงินเหล่านี้ตกอยู่ในมือของเจ้าพ่อเจ้าแม่มาหลายสิบปี ทั้งที่เพื่อนร่วมชาติยากจน แร้นแค้น ขาดโอกาส และแทบไม่มีจะกิน
“ที่รัฐบาลทำคราวนี้ ซึ่งคณะกรรมการตัดสินว่าให้ทัน 25,000 ว่าราย ผมเชื่อว่าน้องๆ อ่านเรียงความแล้วอยากจะให้ได้มากกกว่านั้น” พร้อมกับให้บอกว่า “ถ้าเรามีเยาวชนของชาติที่ลำบาก 1 ล้านก็ต้องช่วยทั้ง 1 ล้านคน เงินไม่มี ผมจะหาจนได้”
ผู้นำประเทศทุกคนอ้างว่าการศึกษาสำคัญ แต่ผู้นำที่ตระหนักถึงการขาดโอกาสถึงขั้นพัฒนาโครงการจักรยานยืมเรียนและโครงการเรียงความนั้นมีไม่มาก และที่ไม่เคยมีเลยก็คือผู้นำที่จัดสรรรายได้ภาครัฐอย่างการขายสลากกินแบ่งมาเป็นงบประมาณเพื่อช่วยเด็กยากจนโดยตรง
วิสัยทัศน์ของดร.ทักษิณ เรื่องการศึกษาและการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการต่อยอดต่อไป ไม่ว่าจะโดยผู้นำประเทศคนไหนและรัฐบาลใดก็ตาม
อ้างอิง
**1 – หนังสือ “ทักษิณ ชินวัตร ชีวิตและงาน” หน้าที่ 152 : พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2558
**2 – หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 18 พฤศจิกายน 2546 หน้าที่ 13
**3 – หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 21 พฤศจิกายน 2546 หน้าที่ 1 , 16
**4 – หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 23 พฤศจิกายน 2546 หน้าที่ 8
**5 – หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 4 พฤศจิกายน 2546 หน้าที่ 1 , 5
**6 – หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 4 พฤศจิกายน 2546 หน้าที่ 14 , 15