ก้าวที่ล้มและก้าวที่ลุกของ ดร.ทักษิณ (FailTure) - Thaksin Official


ร้านขายผ้าไหม พ.ชินวัตร ที่เคยตั้งอยู่ในย่านสุรวงศ์ ของ ดร.ทักษิณ  ซึ่งมีอดีตภรรยาอย่าง  “พจมาน ชินวัตร” (ชื่อนามสกุล ณ ขณะนั้น)  เฝ้าร้านทุกวัน  ทำหน้าที่ทุกอย่างในร้าน  ไม่มีแม้ลูกจ้างสักคน  ทั้งหมดก็เพื่อประหยัดต้นทุน  ส่วน ดร.ทักษิณในตอนนั้นเป็นข้าราชการตำรวจ  เลิกงานก็รีบกลับมาดูแลกิจการและครอบครัว การค้าขายผ่านไปทุกวัน แต่ยอดขายไม่ดีนัก  ดร.ทักษิณ  จึงตัดสินใจเลิกกิจการ  ทั้งที่เปิดร้านมาได้เดือนเดียว 

 

“ ถึงจะลงทุนลงแรงไปแล้ว เสียทั้งเงินและเวลา แต่การทำธุรกิจต้องไม่เสียเวลาไปมากกว่านี้อีก การตัดสินใจปิดร้านผ้าไหมทั้งที่เปิดมาแค่เดือนเดียว เป็นการล้มเพื่อก้าวไปข้างหน้า หรือ Failture (Fail + Future) “

 

นายเลิศ ชินวัตร พ่อของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร  ทำธุรกิจมาหลายอย่าง  ทั้งประสบความสำเร็จและตรงกันข้าม ….  ดร.ทักษิณ  เรียนรู้สิ่งเหล่านี้จากพ่อของเขามาตลอดทั้งชีวิต นอกจากความล้มเหลวของร้านผ้าไหม พ.ชินวัตร หรือความล้มเหลวจากธุรกิจการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หนังไทย  แต่เขาก็ไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ 

 

การทำธุรกิจในอดีต  คือการกู้เงินจากธนาคารโดยมีเงินหมุนเวียนของตนเป็นเสมือนหลักทรัพย์ค้ำประกัน หลังจากที่ปิดกิจการร้านผ้าไหม  ธุรกิจใหม่ของเขาคือ ซื้อภาพยนตร์มาฉายในพื้นที่ภาคเหนือ  เด็กนักเรียนนอกที่ไม่ค่อยได้รู้จักหนังไทย  ประกอบกับธุรกิจหนังไทยเริ่มเปลี่ยน ดาราคู่ขวัญเปลี่ยนไป ไม่ใช่พระนางที่แสดงในภาพยนตร์ที่เขาสต๊อกไว้    ทำให้ธุรกิจซื้อขายหนังไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งที่ช่ำชองในวงการได้ เขาค่อย ๆ ขาดทุนจนเป็นหนี้ 30 ล้านบาท  แต่ในระหว่างนั้น เขาได้เริ่มขยับตัวเข้าสู่ธุรกิจใหม่แล้ว

 

“ผมมีนิสัยอย่างหนึ่งคือไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ไม่ยอมปล่อยให้ตัวเองถึงทางตันแล้วค่อยหาทางออก ”

 

แม้จะ Fail ในธุรกิจมาไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง แต่เขาเชื่อมั่นในศักยภาพและพลังใจของตัวเองเสมอ  เขาได้ตัดสินใจเข้าสู่วงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์  นั่นคือการสร้างคอนโด ซึ่งถือว่าเป็นจุด Failture อีกครั้งของเขา

 

ในปี 2523 มีคนมาเสนอขายโรงหนังเก่า ขนาด 300 ตารางวา ย่านราชวัตร  ราคา 18 ล้านบาท  แต่ ดร.ทักษิณ ไม่มีเงินเพียงพอที่จะซื้อได้ แต่ด้วยคุณสมบัติของเขาที่เป็นคนนอบน้อม อัธยาศัยดี  ทำให้เจ้าของที่ดินยอมให้เอาโฉนดไปค้ำประกันเพื่อกู้เงิน  20 ล้านบาท  เมื่อเขาได้ที่ตรงนั้นมา จึงตัดสินใจทุบโรงหนัง  เพื่อสร้างคอนโดสูง 15 ชั้น 

 

ช่วงนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมายห้ามสร้างตึกสูง   แผนเดิมที่ ดร.ทักษิณจะสร้างคอนโด 15 ชั้นเพื่อขาย จำเป็นต้องลดลงเหลือครึ่งหนึ่งคือ 7 ชั้น  ขนาด 90 ห้อง  แต่เงินที่กู้มาแล้ว  กลายเป็นเงินกู้ส่วนเกิน ทำให้มีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น และด้วยความใหม่ของกฎหมายและการเป็นกรรมสิทธิ์ในคอนโดในยุคนั้น  ทำให้คนไม่กล้าซื้อคอนโด  ผลคือธุรกิจนี้ขาดทุน  เขาเป็นหนี้ร่วม 50 ล้านบาท  

 

เขายอมรับว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นบทเรียนครั้งใหญ่ครั้งแรกในชีวิตการทำธุรกิจ  แต่เขาก็ไม่ยอมแพ้ 

 

“ผู้แพ้เห็นปัญหาทุกครั้งที่มีโอกาส ส่วนผู้ชนะเห็นโอกาสทุกครั้งที่มีปัญหา ผมจำคำนี้ได้เสมอ”

 

 

ดร.ทักษิณ ตัดสินใจนำเงินที่ได้จากการทำธุรกิจคอมพิวเตอร์ ซื้อคอนโดห้องที่ขายไปแล้วคืนมา  จากนั้นนำมารีโนเวตเป็นอพาร์ตเมนต์ให้เช่า

 

ในตอนนั้นที่ธุรกิจคอนโดยังไม่มีทีท่าจะฟื้น เขาได้ขยับตัวมาทำธุรกิจให้เช่าคอมพิวเตอร์ให้กับหน่วยงานหรืองอค์กรต่าง ๆในนาม ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไอ ซี เอส ไอ ในช่วงปลายปี 2525  ซึ่งถือเป็นธุรกิจแรกที่นำพาเขาและครอบครัวสู่ธุรกิจด้านการสื่อสาร  ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ และธุรกิจอื่น ๆ ในที่สุด 

 

จนในปี 2528-2529 เขาได้เปิดตัวธุรกิจใหม่ คือธุรกิจโทรคมนาคม เริ่มต้นด้วย “แพคลิงค์” เครื่องมือที่ช่วยให้ผู้คนสื่อสารกันได้ด้วยข้อความสั้น ๆ  และขยายธุรกิจเข้าสู่โทรศัพท์มือถือและดาวเทียม 

 

 

“สไตล์การทำธุรกิจของแต่ละคนต่างกัน  ผมจะไม่ทนต่อสู้ในสงครามที่รู้ว่าจะมีจุดจบที่ความพ่ายแพ้ หรือเห็นอยู่ว่ายังไงก็ต้องสูญเสีย  อีกข้อคิดหนึ่งคือ การนำของใหม่ที่ใหญ่กว่าไปล้างของเสียที่เล็กกว่า  เพื่อให้ก้าวใหม่ของเราก้าวได้ไกลกว่าเดิม”

 

เมื่อเราลองนับจำนวนก้าวที่ล้มกับก้าวที่ลุก ของ ดร.ทักษิณ ก็คงจะไม่แตกต่างกันมากนัก  เขาไม่เคยปิดบังจังหวะพลาดของเขา ตรงกันข้ามกลับนำประสบการณ์อันล้ำค่านั้นกลับมาสอนลูก ๆ ในการทำธุรกิจ รวมถึงคนไทยที่กำลังก่อร่างสร้างตัวเฉกเช่นเดียวกับเขาเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว การล้มเพื่อก้าวไปข้างหน้า  เป็นสิ่งที่มาคู่กันเสมอ จะไม่มีอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นเพียงอย่างเดียวแล้วจบหายไปอย่างไร้คุณค่าและความหมาย

 

หากจะเปรียบการทำธุรกิจของ ดร.ทักษิณ เป็นวิวัฒนาการของการมีชีวิต ก็คงเปรียบได้กับการเติบโตของผีเสื้อ วงจรชีวิตของมันเริ่มจากใข่ใบเล็ก ก่อนที่จะกระเทาะตัวพ้นเปลือกหุ้มออกมาเป็นดักแด้  เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมแล้วก็พร้อมที่จะสยายปีกออกบินไปสู่เวิ้งท้องฟ้า  เหมือนเช่น ดร.ทักษิณ ที่ยังคงโลดแล่นอยู่ในโลกของการบริหารธุรกิจ มองหาโอกาสใหม่ ๆ บนท้องฟ้าที่กว้างใหญ่อยู่เสมอ