ความสัมพันธ์ของไทยกับประเทศรอบข้างเป็นความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด แต่ก็เปราะบาง เป็นมิตร แต่ก็ต้องรอบคอบ เพราะประเทศก็เหมือนบ้านที่ตั้งอยู่ท่ามกลางวงล้อมของเพื่อนบ้านจำนวนมาก การอยู่ร่วมกันจึงต้องละเอียดอ่อนและเอาใจใส่บนหลักการของการถ้อยทีถ้อยอาศัยเพื่อการอยู่ร่วมกัน
ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีความสัมพันธ์กันหลายแง่มุม ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐอาจขึ้นลงตามสถานการณ์ แต่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงน้อยมาก ไม่ต้องพูดถึงความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างผู้คนที่มีด้านซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากเส้นเขตแดนมากเหลือเกิน
คนไทยกับประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านมีสายสัมพันธ์กันในประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน บางมิติเป็นสายสัมพันธ์ที่เป็นทางการ บางมิติเป็นสายสัมพันธ์ทางภาษา เครือญาติ ชาติพันธุ์ ฯลฯ บางมิติเป็นสายสัมพันธ์ทั้งที่เป็นและไม่เป็นทางการที่ต่างฝ่ายต่างพึ่งพิงกันทางใดทางหนึ่งตลอดเวลา
ไม่ว่าจะในสังคมไหน การอยู่ร่วมกันของคนจำนวนมากย่อมเกิดการกระทบกระทั่งซึ่งกันและกัน ครอบครัวที่เป็นหน่วยในสังคมมนุษย์ที่เล็กที่สุดจึงเกิดเรื่องไม่ลงรอยประเภทลิ้นกับฟันได้เสมอ นับประสาอะไรกับชาติซึ่งมีคนหลายสิบล้านอยู่ร่วมกันที่จะไม่มีปัญหาอะไรกันเลย
บนเส้นทางประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านที่ยาวนานหลายร้อยปี อคติทางเชื้อชาติหรือ “ลัทธิชาตินิยม” เป็นเชื้อไฟที่พร้อมจะบานปลายไปสู่การสะบั้นความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนมากที่สุด ต่อให้หลายครั้งเรื่องทั้งหมดนี้จะไม่มีมูลความจริงเลยก็ตาม
ย้อนไปวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2546 ข่าวลือเรื่องนักแสดงชาวไทยดูหมิ่นคนกัมพูชาจุดชนวนให้เกิดความไม่พอใจที่บานปลายเป็นการจลาจล เหตุการณ์ลุกลามขั้นบุกเผาสถานทูตและทำลายทรัพย์สินนักธุรกิจไทยในกรุงพนมเปญ คนไทยต้องหลบซ่อน ส่วนเจ้าหน้าที่การทูตต้องปีนกำแพงหนีตาย
ในโมงยามแห่งวิกฤติที่ชีวิตคนไทยนับร้อยอยู่ในอันตราย ดร.ทักษิณ ได้เปล่งประกายความเป็นผู้นำที่เด็ดเดี่ยวและเฉียบขาดอย่างที่สุด เพราะขณะที่ไม่มีใครนึกออกว่ารัฐบาลเวลานั้นควรทำอะไร ดร.ทักษิณประสานรัฐบาลกัมพูชาเพื่อควบคุมสถานการณ์ก่อนส่งกองทัพไปอพยพคนไทยกลับทันที
เพื่อที่จะปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยในรอดพ้นจากสถานการณ์วิกฤติโดยเร็ว กลางดึกคืนนั้น ดร.ทักษิณ ได้เรียกประชุมกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อประเมินสถานการณ์และเตรียมปฏิบัติการต่างๆ อย่างรัดกุม
สำหรับการประสานงานกับรัฐบาลกัมพูชา ดร.ทักษิณ ได้ติดต่อกับสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา รวมทั้งแจ้งสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาในประเทศไทยว่า “ถ้าภายใน 1 ชั่วโมง เหตุการณ์ไม่เรียบร้อย ผมจะส่งหน่วยคอมมานโดเข้าไปในจุดเกิดเหตุ ขณะนี้ได้สั่งการให้เตรียมพร้อมแล้ว”
ภายใต้การประเมินข้อมูลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนเห็นภาพรวมของสถานการณ์ ดร.ทักษิณ ตัดสินใจแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลในเวลา 24.00 น. ลดความสัมพันธ์ทางการทูตกับกัมพูชา ห้ามคนกัมพูชาเข้าประเทศไทย และส่งเครื่องบิน ซี 130 ไปรับคนไทยโดยให้กัมพูชารับผิดชอบทันที
ในเวลา 05.00 น.ของ วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2546 เครื่องบินซี 130 ของกองทัพอากาศ 5 ลำ พร้อมหน่วยคอมมานโดได้ช่วยชีวิตคนไทยสำเร็จตามแผนที่รัฐบาลกำหนด โดยดร.ทักษิณ เปิดเผยเบื้องหลังเหตุการณ์นั้นในรายการ “นายกทักษิณคุยกับประชาชน” วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2546 ว่า
“หลังทราบข่าวจากกระทรวงการต่างประเทศในเวลา 18.00 น. วันที่ 29 มกราคม ผมได้โทรศัพท์ถึงสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาว่า ทำไมปล่อยปละละเลย ทำไมจึงไม่นำกำลังทหารออกมาควบคุมสถานการณ์ ทางสมเด็จฮุน เซน บอกว่าเดี๋ยวจะจัดการ แต่ก็ปรากฏว่าช้ามาก จนถึงเวลา 19.00 น.ทหารก็ยังไปไม่ถึงสถานทูตเลย มีแต่ตำรวจที่ทำงานไม่เข้มแข็ง เหยาะแหยะ”
“ผมเลยโทรศัพท์กลับไปหาสมเด็จ ฮุน เซน อีกครั้งว่า หากภายใน 1 ชั่วโมง ท่านยังควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ ผมจะส่งหน่วยคอมมานโดของไทยเข้าไป จากนั้นผมก็โทรศัพท์ไปสั่ง พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ ผบ.ตร. ให้เตรียมคอมมานโดค่ายนเรศวร เพราะว่าอาจต้องโดดร่มลงในสถานทูต เพื่อปกป้องชีวิตของเจ้าหน้าที่สถานทูตไทย”
“พอเวลา 20.00 น. ผมโทร.กลับไปอีกครั้งปรากฏว่าไม่มีใครอยู่ในสถานทูตแล้ว เพราะหนีออกไปหมดแล้ว ปลอดภัย ก็เลยระงับการส่งคอมมานโดเข้าไป แต่เมื่อเหตุการณ์บานปลายอีกมีการบุกเผาธุรกิจคนไทยด้วยในช่วงดึก ผมก็ได้เรียกประชุมเพื่อหามาตรการตอบโต้ทันที เพราะรับไม่ได้”
“พอประชุมเสร็จ ผมสั่งให้เอกอัครราชทูตไทยประจำกัมพูชา ท่านชัชเวทย์ ชาติสุวรรณ กลับเมืองไทยทันที และให้ส่งทูตของเขา ท่านอึง เซียน กลับกัมพูชา ภายใน 24 ชั่วโมง”
“ทางกระทรวงการต่างประเทศบอกว่า การทำแบบนี้รุนแรงมาก ผมบอกว่าเรื่องมันแรงก็ต้องแรง ในที่สุดทุกคนก็ตกลง จึงสั่งอพยพผู้คนทั้งหมดในคืนนั้นทันที แต่ปรากฏว่าสนามบินปิดหมดแล้ว ถ้าไปก็อันตรายเพราะว่ามืด ทุกคนก็เลยสรุปกันว่าจะนำเครื่องบิน ซี-130 พร้อมกับคอมมานโดจำนวน 80 นาย แล้วก็ส่งรถหุ้มเกราะติดเครื่องบินไป ถ้าหากเกิดความจำเป็นก็ต้องลุยกัน”
“ระหว่างนั้น พล.อ.เตีย บันห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของกัมพูชาโทรศัพท์มา จึงได้ต่อว่าไปว่าขอทหารตั้งแต่คืนวันที่ 28 มกราคม ทำไมไม่ให้ ตกบ่ายวันที่ 29 มกราคม ขอไปอีกก็ไม่ให้ มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมไม่ปกป้องสถานทูตที่อยู่ในประเทศของตัวเอง เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องความเสียหายในระดับประเทศที่สูงมาก”
“สมเด็จฮุน เซน ก็ขอพูดกับผม ผมก็ต่อว่าไป และยืนยันจะตัดความสัมพันธ์ นายกฯฮุน เซน พยายามขอร้องแล้วขอร้องอีก ผมก็เลยบอกว่า จะลดความสัมพันธ์เหลือระดับอุปทูต เพื่อเปิดช่องในการพูดจากัน แต่ต้องอธิบายให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้น และต้องจับกุมตัวการให้ได้ รวมทั้งจะต้องชดใช้ค่าเสียหาย เขาก็รับข้อเสนอ”