‘คลัสเตอร์ธุรกิจ’ ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเพื่อพัฒนาประเทศ - Thaksin Official


 

ดร.ทักษิณ มีชื่อเสียงจากการเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในธุรกิจโทรคมนาคมก่อนที่จะมาดำรงตำแหน่งทางการเมือง  ต้นทุนทางการเมืองของดร.ทักษิณ คือวิสัยทัศน์ของดร.ทักษิณ และการดำเนินนโยบายหลายอย่างของรัฐบาลทักษิณก็แสดงวิสัยทัศน์ของดร.ทักษิณให้เห็นชัดเจน

ดร.ทักษิณ เป็นผู้นำรัฐบาลในเวลาที่ประเทศไทยเผชิญสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยากลำบากหลายประการ คู่ค้าหลักของไทยอย่างสหรัฐอเมริกาทำสงครามกับอิรัก มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศต่างๆ รุนแรงมากขึ้น ผลก็คือตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายอย่างของไทยอยู่ในภาวะน่ากลัว

ด้วยความตระหนักว่าประเทศไทยกำลังเผชิญมรสุมด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศซึ่งน่ากังวล ดร.ทักษิณได้ผลักดันให้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ฉบับที่ 9 ช่วงปี 2545 – 2549 ให้ความสำคัญต่อแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างชัดเจน

แนวคิดสำคัญที่รัฐบาล ดร.ทักษิณ พัฒนาจนเป็นยุทธศาสตร์ด้านการค้าและการลงทุนของประเทศไทยคือ “คลัสเตอร์” หรือการสร้างการรวมกลุ่มเพื่อเชื่อมโยงผู้ประกอบการ, ผู้ผลิต และสถาบันที่เกี่ยวข้องในธุรกิจต่างๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการแข่งขันในประเทศและสากล

ตามวิสัยทัศน์ของ ดร.ทักษิณ ในฐานะนายกรัฐมนตรี “คลัสเตอร์” จะเพิ่มสมรรถนะด้านการแข่งขันของประเทศสามด้าน ด้านแรกคือเพิ่มผลิตภาพของธุรกิจในคลัสเตอร์ ด้านที่สองคือทำให้เกิดนวัตกรรมในคลัสเตอร์นั้น และด้านที่สามคือกระตุ้นให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ในแต่ละอุตสาหกรรม

แนวคิด “คลัสเตอร์” สะท้อนว่า ดร.ทักษิณ เล็งเห็นว่าความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศไม่ควรมาจากการผลิตสินค้าราคาถูกต่อไป การสร้างการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการจะกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมของอุตสาหกรรมเหมือนซิลิคอนวัลเลย์และฮอลลีวู้ดสร้างนวัตกรรมไอทีและบันเทิง

แนวคิด “คลัสเตอร์” เป็นที่มาของการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (NCC : National Committee on Competitive Advantage) เพื่อพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม มีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นเจ้าภาพ ตั้งแต่ปี 2546 จนปัจจุบัน.

ด้วยวิสัยทัศน์ของ ดร.ทักษิณ รัฐบาลจึงดำเนินนโยบายดึงภาคธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันหรือเกี่ยวข้องกัน มาเป็นห่วงโซ่การผลิต (Value Chain)   ชวนสถาบันที่เกี่ยวข้องมาทำงานร่วมกัน   ในคลัสเตอร์ที่เป็นเหมือนชุมชนธุรกิจ (Business Community)  ตลอดเวลา

คลัสเตอร์จะต้องเชื่อมโยงกัน(Connectivity) มีการแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อสร้างความคิดใหม่ๆ, ความร่วมมือ (Collaboration) และการแข่งขัน (Competition) บนพื้นฐานของความร่วมมือซึ่งที่สุดจะทำให้ทั้งหมดมีประสิทธิภาพโดยรวม(Collective Efficiency) กว่าผู้ประกอบการที่ไม่มีการรวมตัว

แนวคิดคลัสเตอร์ธุรกิจเริ่มตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 โดยอัลเฟรด  มาร์แชล (Alfred Marshall )  ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์    ต่อมาศาสตราจารย์ไมเคิล อี พอร์เตอร์ (Michael E.Porter)  อัจฉริยะตลาดของโลกนำมาสานต่อ  และ ดร.ทักษิณ  เป็นนายกคนแรกที่นำเอาแนวคิดนี้มาใช้ในประเทศไทย

ในคำกล่าวเปิดโครงการสัญจร ชุบชีวิตธุรกิจไทย  เสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ ที่ จ.เชียงใหม่ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2545 ดร.ทักษิณ อธิบายแนวคิดนี้ต่อนักธุรกิจไทยว่า

“ให้หอการค้าและสภาอุตสาหกรรมบอกกล่าวกับผู้ประกอบการ ให้รวมตัวกันเป็นกลุ่มประเภทอุตสาหกรรมหรือประเภทธุรกิจเดียวกัน  คุยกันภายในว่าอะไรที่ต้องการให้รัฐทำและไม่ทำ  ผมจะเปิดโอกาสให้สัปดาห์ละครั้งมาเจอกัน  พากันเดินไปข้างหน้า ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วยกัน”

โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)  เป็นโครงการนำร่องที่นำแนวคิดคลัสเตอร์มาทดลองใช้   จากนั้นคือโครงการอุตสาหกรรมท่องเที่ยว  จังหวัดภูเก็ต, คลัสเตอร์อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล และคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารในเขตภาคกลาง

แนวคิดของ ดร.ทักษิณ ทำให้ประเทศไทยเกิดการรวมตัวเป็นซูเปอร์คลัสเตอร์ 8 กลุ่ม คือยานยนต์, เครื่องใช้ไฟฟ้า ,อิเล็กทรอนิกส์, เกษตรแปรรูป , สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ โดยผู้ที่อยู่ในคลัสเตอร์จะได้สิทธิประโยชน์ด้านการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี  และลดหย่อนเพิ่มเติม 50% อีก 8  ปี 

คลัสเตอร์ธุรกิจคือหนึ่งในแนวคิดของดร.ทักษิณ ที่มุ่งสร้างบูรณาการของภาครัฐและธุรกิจเพื่อนำไปสู่การยกระดับความสามารถด้านการแข่งขันของผู้ประกอบการและประเทศในระยะยาว